วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประวัติวัดใหม่เจริญผล


ประวัติวัดใหม่เจริญผล

 ๑. ก่อนที่จะเป็นวัดใหม่เจริญผล      วัดใหม่เจริญผล เดิมชื่อ “วัดราษฎร์เจริญผล” ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง หมู่บ้านครก ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดราชบุรี อยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลประจวบอุตสาหกรรม (อยู่ห่างจากวัดใหม่เจริญผลในปัจจุบัน ๑-๒ กิโลเมตร) ไม่มีใครทราบว่าสร้างตั้งแต่เมื่อไร และใครเป็นผู้สร้าง เพราะประวัติเกี่ยวกับวัดไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ท่านก็บอกแต่เพียงว่า เมื่อท่านเติบโตขึ้นมาก็เห็นวัดราษฎร์เจริญผลแล้ว
    จากการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับวัดเก่านี้ได้ความว่า  ที่ดินที่สร้างวัดราษฎร์เจริญผลเป็นที่ดินของ ตานวม ยายจันทร์ ภุมิรา  และ ตาวร  ยายพลับ นิ่มนุช  ได้บริจาคที่ดิน (จำนวนกี่ไร่ไม่มีหลักฐาน) สร้างวัดขึ้น  แล้วตั้งชื่อว่า “วัดราษฎร์เจริญผล”  เป็นที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลของประชาชนในเขตบ้านครก ส่วนพระสงฆ์ในวัดและเจ้าอาวาสนั้นไม่มีข้อมูลชัดเจน จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในปัจจุบัน ท่านบอกแต่เพียงเท่าที่จำได้ในสมัยที่ท่านเป็นเด็กว่า เจ้าอาวาสในวัดเก่านี้มี หลวงตาช่วย  หลวงตาลิ่ม  หลวงพ่อสิน  หลวงตานวม  และหลวงตาสู  ปรากฏว่าหลวงพ่อที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎร์เจริญผลนี้ไม่มีรูปใดที่อยู่ได้นาน บางรูปอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น (ทำให้ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าอาวาสเลย)


    ด้วยเหตุที่วัดตั้งอยู่ใกลจากหมู่บ้าน การเดินทางไปทำบุญที่วัดจึงลำบาก มีคนเข้าวัดน้อยมาก เนื่องจากเป็นป่าไม้ ถนนหนทางไม่สะดวก และด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ดังนั้นชาวบ้านและพระสงฆ์จึงร่วมใจกัน ย้ายวัดจากพื้นที่เดิมอยู่หมู่บ้านครกมาที่หมู่บ้านท่าเรือ ในเขตพื้นที่เดี่ยวกันอยู่ห่างจากพื้นที่วัดเก่าประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร เป็นสถานที่อยู่ระหว่างหมู่บ้านท่าเรือและหมู่บ้านครก สันนิษฐานกันว่า ย้ายวัดในช่วงสมัย หลวงตานวมและหลวงตาสู โดยมีตาวรนิ่มนุช และตาเห็ง ภูมราเป็นกำลังสำคัญฝ่ายฆราวาส ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙
๒. วัดใหม่เจริญผลในอดีต     วัดราษฎร์เจริญผลเมื่อย้ายมาสร้างใหม่ที่หมูบ้านท่าเรือ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดใหม่ราษฎร์เจริญผล” (จากศิลาหินอ่อนในอุโบสถ) เพราะถือการย้ายวัดมาสร้างใหม่เป็นชื่อวัด วัดใหม่นี้มีเนื้อที่ประมาณ ๓๔ ไร่ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันสร้างระหว่างชาวบ้าน โดยการเสียสละที่ดิน และก่อสร้างเสนาสนะเป็นที่พักสงฆ์ นับตั้งแต่มีการสร้างวัดใหม่นั้นมีประวัติไม่ชัดเจน แต่ที่ปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยพระครูกาญจนวิสุทธิ์ (หลวงพ่อเพลิน ปริสุทฺโธ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่จำอยูที่ วัดใหม่ราษฎร์เจริญผลนานทีสุด และมีบทบาทเด่นที่สุดในการก่อสร้างและพัฒนาวัด ต่อมาทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองใหม่ โดยจัดให้เขตอำเภอท่ามะกาขึ้นต่อจังหวัดกาญจนบุรี วัดจึงเป็นวัดในเขตจังหวัดกาญจนบุรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  วัดใหม่ราษฎร์เจริญผลนับตั้งแต่มาสร้างในเขตพื้นที่ใหม่ ชาวบ้านมักนิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดใหม่” หรือ”วัดใหม่เจริญผล” เพราะเป็นชื่อที่เรียกง่ายและเข้าใจกัน โดยตัดคำว่า “ราษฎร์” ออกไปภายหลังทางราชการจึงเรียกชื่อตามชาวบ้านว่า        “วัดใหม่เจริญผล” จนถึงปัจจุบัน
๓. เจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผล      นับตั้งแต่ย้ายวัดมาสร้าง ณ หมู่บ้านท่าเรือนั้น ไม่มีหลักฐานว่ามีเจ้าอาวาสแล้วกี่รูป แต่เจ้าอาวาสรูปที่มีบทบาทมากที่สุด และอยู่จำในวัดใหม่เจริญผลมากที่สุดคือ พระครูกาญจนวิสุทธิ์ (หลวงพ่อเพลิน ปริสุทฺโธ) หลวงพ่อเพลินเข้ามาจำอยู่ในวัดใหม่เจริญผลตั้งแต่เมือไรไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ตามประวัติท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผลในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ (หลวงพ่อเพลินอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ อุโบสถวัดแสนตอ)  หลวงพ่อเพลินมรณภาพเมื่อวันที่  ๘  ตุลาคม  ๒๕๔๐  และได้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันอาทิตย์ที่  ๙  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๔๑
       (๒) พระมหาเมธี อินฺทรโชโต ป.ธ. ๙ เป็นศิษย์เอกอีกรูปหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการวางรากฐานทางการศึกษาแก่วัดใหม่เจริญผล เมื่อหลวงพ่อเพลินถึงแก่มรณภาพ คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผล เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๐ พระมหาเมธี อินฺทรโชโต มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
        (๓) พระครูวิสาลกาญจนกิจ (โท เขมจิตฺโต) รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๖
        (๔) พระครูปลัดธีรพงษ์ ฐานุตฺตโร (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผล ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จนถึงปัจจุบัน

๔. วัดใหม่เจริญผลในปัจจุบัน (๒๕๕๒)
    ๑. สถานภาพปัจจุบัน
     ปัจจุบันวัดใหม่เจริญผลเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าเรือ - พระแท่น     ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ถนนแสงชูโต (สายเก่า) ที่กิโลเมตรที่ 99 จากกรุงเทพมหานคร ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
      เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูปลัดธีรพงษ์ ฐานุตฺตโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์รูปหนึ่งของพระครูกาญจนวิสุทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ หลังจากที่ พระมหาเมธี อินทโชโต มรณภาพแล้ว ๑ ปี และเป็นผู้พัฒนาวัด และสนับสนุน ให้เป็นค่ายฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรม “ค่ายพุทธบุตร” แก่เยาวชนในพื้นที่ และเขตใกล้เคียง ปัจจุบันมีอาณาเขต ดังนี้
     ทิศเหนือ  ติดถนนเข้าสุสานตระกูลล้อ
     ทิศไต้   ติดหมู่บ้านครก, ตลาดใหม่
     ทิศตะวันออก  ติดถนนแสงชูโต สายใน  กรุงเทพ - กาญจนบุรี
     ทิศตะวันตก  ติดโรงเรียนท่าเรือพิทยาคม (พื้นที่โรงเรียนยังเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด) และแม่น้ำแม่กลอง
    ๒. ศาสนสถานในวัดใหม่เจริญผล
     อุโบสถ  อุโบสถของวัดในปัจจุบันเป็นอุโบสถที่บูรณะซ่อมแซมจากหลังเก่า โดยเริ่มก่อสร้าง บูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และปิดทองฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ. ๒๕๑๓  ในอุโบสถมีพระพุทธรูป “สมเด็จพระบรมครู สัมมาสัมโพธิญาณ” เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตัก ๖๐  นิ้ว อุโบสถหลังนี้เป็น เป็นอุโบสถ  ๒  ชั้น มีชั้นไต้ดิน ๑ ชั้น  และชั้นบนอีก ๑ ชั้น  แต่ชั้นไต้ดินยังสร้างไม่เสร็จจึงปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในปัจจุบันใช้ประโยชน์เฉพาะอุโบสถชั้นบนเท่านั้น บริเวณรอบเขตสีมาเขตอุโบสถมีกุฏิสงฆ์ขนาดเล็ก ๔ หลัง ๔ มุมของอุโบสถ อยู่ในเขตกำแพงอุโบสถ เป็นกุฏิขนาดเล็ก ขนาดห้องเดียว เป็นที่พำนักจำพรรษาของพระภิกษุ
    ลานธรรมกาญจนวิสุทธิ์  ลานธรรมกาญจนวิสุทธิ์  เป็นลานธรรมธรรมชาติไต้ร่มไม้ ขนาดกว้าง  ๑๘  เมตร และขนาดยาว ประมาณ  ๓๐  เมตร ปูพื้นด้วยพื้นปูนตัวหนอน  มีรั้วเหล็กดัดโดยรอบสูงประมาณ ๑ เมตร ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูด้านละ ๒ ประตู  และด้านซ้ายขาวด้านละ  ๑  ประตู เป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมของวัดในการจัดอบรมปฏิบัติธรรม จัดอบรมเข้าค่ายคุณธรรมจริยธรรม
      อาคารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ อาคารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นอาคารขนาด  ๒  ชั้นชั้นล่าง  ๒  ห้อง  ชั้นบน  ๒  ห้อง  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ปัจจุบันเป็นห้องเรียนของศูนย์ศึกษานอกโรงเรียนอำเภอท่ามะกา
      ศาลาการเปรียญ หรือศาลาโรงฉัน    เป็นศาลาขนาดใหญ่  2  ชั้น  ชั้นล่างเป็นสถานที่ทำภัตกิจของพระสงฆ์และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมในวันธรรมสวนะ    และวันสำคัญทางศาสนา มีห้องน้ำห้องสุขาจำนวน 4 ห้อง ส่วนชั้นบน ใช้เป็นที่พักของผู้มาเข้าค่ายคุณธรรมจริยธรรม หรือเข้าค่ายปฏิบัติธรรม มีห้องน้ำห้องสุขาจำนวน 2 ห้อง
     กุฏิพระครูกาญจนวิสุทธิ์  เป็นกุฏิ 2 ชั้น  สร้างถวายโดย คุณแก้ว และคุณระเบียบ  พึงประสบ  เป็นกุฏิที่พำนักของสงฆ์ในวัด
     กุฏิหลังใหญ่ เป็นที่พักของพระสงฆ์ในวัด  ขนาดใหญ่ 2 ชั้น  ชั้นบนเป็นที่พักของพระสงฆ์ มีจำนวน  12  ห้อง  ชั้นล่างจำนวน 12 ห้อง  ส่วนห้องโถงตรงกลางของชั้นล่าง ใช้เป็นที่อบรมคุณธรรมจริยธรรม ทำกิจวัตรสำหรับผู้มาอบรม
     กุฏิร่วมใจสามัคคี เป็นกุฏิสำนักงานเจ้าอาวาส  ขนาด 2 ชั้น  ชั้นล่าง แบ่งเป็น  2 ห้อง  และชั้นบนแบ่งเป็น  4  ห้อง
     กุฏิคุณโยมยิ้น   ตั้งสากล  เป็นกุฏิที่สร้างถวายโดย คุณโยมยิ้น  ตั้งสากล  เป็นกุฏิชั้นเดียวห้องเดียว พร้อมห้องน้ำ 1 ห้อง
     กุฏิคุณระเบียบ  พึงประสบ  เป็นกุฏิห้องเดียวชั้นเดียว มีห้องน้ำในตัว พร้อมติดตั้งแอร์ มีขนาดและแบบเดียวกันกับกุฏิโยมยิ้น  เป็นกุฏิสำหรับรับรองพระอาคันตุกะ
     กุฏิรับรองอาคันตุกะ     เป็นกุฏิขนาดชั้นเดียว ห้องเดียว พร้อมแอร์    สร้างถวายโดย     นายยัง  รงค์ฤทธิไกร และนายซิ้นฝัด  เซี่ยงหยุง เป็นกุฏิขนาดและแบบเดียวกับกุฏิคุณระเบียบ เป็นกุฏิรับรองพระสงฆ์หลังที่สอง
     ศาลาสว่างอนุสรณ์  สร้างถวายโดย คุณแม่สว่าง  โกมลโชติ เป็นกุฏิขนาดชั้นเดียว ห้องเดียว พร้อมห้องน้ำ เป็นกุฏิขนาดและแบบเดียวกันกับกุฏิรับรองสงฆ์
     กุฏิแดง  เป็นกุฏิไม้  2  ชั้นทาสีแดงทั้งหลัง ชั้นล่างเป็นห้องพัสดุ เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถ้วย ชาม จาน หม้อ แก้ว เป็นต้น สำหรับให้ประชาชนยืมไปใช้เมื่อคราวมีงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่พำนักสงฆ์มีจำนวน  2  ห้อง (ไฟไหม้ปี ๒๕๕๒ทำการรื้อถอนและสร้างทดแทน)
     กุฏิทรงไทย  เป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงประมาณ  2 เมตรจากพื้น เป็นกุฏิที่พักสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในวัด มีจำนวนห้องเดียว
     หอระฆัง  เป็นหอระฆังขนาด  2  ชั้น  สร้างด้วยปูน
     ศาลาประดิษฐานรูปหล่อพระครูกาญจนวิสุทธิ์ (พลวงพ่อเพลิน  ปริสุทฺโธ)   ขนาดหน้าตัก  24  นิ้ว ปูพื้นหินอ่อน สร้างไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน
     ศาลาประดิษฐานรูปหล่อพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)  เป็นศาลาปูพื้นหินอ่อน รูปแบบเดียวกับศาลาประดิษฐานรูปหล่อพระครูกาญจนวิสุทธิ์  สร้างถวายโดย คุณเด่น  คุณบุญเพิ่ม   ชลธีกุล  รูปหล่อขนาดหน้าตัก  28  นิ้ว
     ฌาปนสถาน (เมรุ)  เป็นสถานที่ในการประกอบการฌาปนกิจศพ (เผาศพ)  ปูพื้นด้วยหินอ่อน
     ศาลาศิรินาคราชอุทิศ  เป็นศาลาที่พักศพรอการประกอบพิธีฌาปนกิจ  สร้างโดยตระกูลนาคราช
     ศาลากาญจนวิสุทธิ์  เป็นศาลาที่สร้างเมื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูกาญจนวิสุทธิ์        (หลวงพ่อเพลิน  ปริสุทฺโธ)  เป็นศาลาหลังโปร่ง ปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน ขนาด  18 เสา
     เจดีย์ขนาดใหญ่สีขาว  ขนาดฐาน  10  เมตร  สูง  15  เมตร  อยู่ด้านหลังศาลาสว่างอนุสรณ์  เป็นเจดีย์บรรจุกระดูกตระกูลที่เสียสละที่ดินเพื่อสร้างวัด ได้แก่  มัธยมจันทร์ ,  พึงประสพ , เจริญพานิช , นาคราช , โกมลโชติ , สุขอร่าม , และเปรื่องกาญจน์
      ห้องน้ำห้องสุขา  อยู่หลังกุฏิร่วมใจสามัคี มีห้องอาบน้ำรวม 2 ห้อง และห้องสุขา ๑๐ ห้อง (สำหรับผู้ชาย) และหลังศาลาการเปรียญ มีห้องอาบน้ำรวม ๔ ห้อง และห้องสุขา ๒๐ ห้อง (สำหรับผู้หญิง)
      สิ่งก่อสร้างใหม่ในสมัยพระครูปลัดธีพงษ์  ฐานุตฺตโร เป็นเจ้าอาวาส
      หอประชุมหลังใหม่   เพื่อใช้เป็นที่สำหรับอบรมค่ายคุณธรรมและการปฏิบัติธรรม  ตลอดจนเป็นอาคารเอนกประสงค์ สิ้นค่าก่อสร้าง หนึ่งล้านสามแสนบาทเศษ
     เรือนแก้ว เป็นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม สร้างถวายโดยครอบครัวจงสกุล สิ้นงบประมาณประมาณ ๗ แสนบาทเศษ
     ศาลาทรงไทย จำนวน ๒ หลัง หลังที่ ๑ พื้นปูกระเบื้อง เป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและพระพุทธรูปให้ประชาชนสักการะ หลังที่ ๒ พื้นปูไม้ยกพื้นประมาฯ ๑ ศอก มีระเบียงสำหรับประชาชนและที่รับแขกจุดนัดพบและสถานที่พักผ่อนของคณะครูที่นำนักเรียน นักศึกษามาเข้าค่ายฯ สิ้นงบประมาณ ๒ แสนบาทเศษ
    กำลังก่อสร้างศาลาปฏิบัติ เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้อาวุโส วันอาทิตย์ และ การอบรมกรรมฐานสำหรับเยาวชน งบประมาณ ๓ ล้านบาทเศษ ทดแทนกุฏิแดงที่โดนไฟไหม้
    กิจวัตรของพระภิกษุ 10 อย่าง
      1. ลงอุโบสถ
      2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
      3. สวดมนต์ไหว้พระ
      4. กวาดอาวาส วิหาร ลานเจดีย์
      5. รักษาผ้าครอง
      6. อยู่ปริวาสกรรม
      7. โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ
      8. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
      9. เทศนาบัติ
      10. พิจารณาปัจเวกขณะ 4
          กฎระเบียบของพระภิกษุสามเณรวัดใหม่เจริญผล  
1. ต้องศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดจนจบหลักสูตรนักธรรม
2. ลงทำกิจวัตรสงฆ์  ทำวัตรเช้าเย็นทุกวันตามที่กำหนด
3. ทำความเคารพซึ่งกันและกันตามอายุ-พรรษา
4. บอกลาเจ้าอาวาสทุกครั้งเมื่อไปธุระนอกวัด  หรือไปเยี่ยมบ้าน
5. เมื่อมีกิจกรรมของวัดให้ร่วมกันทำงานจนแล้วเสร็จ
6. ช่วยกันรักษาความสะอาดที่อยู่และบริเวณวัด
 7. ช่วยกันเก็บรักษาวัสดุครุภัณฑ์ของสงฆ์
 8. ลงประชุมพร้อมกันทุกครั้งเมื่อมีนัดประชุม
 9. ไม่พูดเสียงดัง หรือไม่พูดจาหยอกล้อกันเล่นในที่สาธารณะ
 10. ปิดน้ำปิดไฟทุกครั้งเมื่อไม่มีกิจจำเป็นที่จะใช้
 11. ญาติหรือเพื่อนมาเยี่ยมได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.
 12. ห้ามเปิดเครื่องขยายเสียงดังจนรบกวนคนอื่น
 13. บวชยังไม่ได้ 5 พรรษา ห้ามมีทีวีเป็นของส่วนตัว
 14. ห้ามหยิบสิ่งของเครื่องใช้คนอื่นไปโดยไม่ได้รับอนุญาติ
 15. ห้ามเสพยาเสพย์ติดทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
 16. เมื่อทำกิจวัตรยังไม่ทันเสร็จพร้อมกันห้ามลุกออกไป เว้นแต่ได้รับอนุญาต
 17. หากมีเรื่องไม่เข้าใจกันให้ปรึกษาเจ้าอาวาส
 18. การนุ่งผ้า ห่มผ้าต้องนุ่งให้เป็นปริมณฑล เหมาะสมตามสมณะสารูป
 19. พระภิกษุสามเณรจะทำ พูด คิด พึงสังวรระวังให้อยู่ในสมณะสารูป
 20. พระภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้อย่างเคร่งครัด