การวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗


การวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗

บทความ

เรื่อง การวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗

               ผู้นำ (Leader) คือ ผู้ที่มีบุคลิกลักษณะ คุณสมบัติเด่นกว่าผู้อื่นในกลุ่มและมีอิทธิพลมากกว่าบุคคลอื่นในหน่วยงาน   ทั้งสามารถสร้างความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้เกิดขึ้นแก่หน่วยงานได้[๑]  ดังนั้น ผู้นำ จึงหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งรับบทบาทเป็นผู้บริหารประสานประโยชน์ในกลุ่มเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม มีอิทธิพลและอำนาจสามารถบังคับบัญชาบุคคลในกลุ่มให้ปฏิบัติงานจนบรรลุผลตามเป้าหมายที่องค์การกำหนดไว้ได้  พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเกี่ยวกับตัวผู้บริหารหรือผู้นำในการบริหารนี้มาก ดังที่ปรากฏอยู่ในทุติยปาปณิกสูตร[๒] ว่าผู้นำจะต้องประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้คือ  จักขุมา คือ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมองสภาพเหตุการณ์ออกและจะวางแผนเตรียมรับหรือรุกได้อย่างไร  วิธุโร คือ เป็นผู้ชำนาญในงานรู้จักวิธีการในหน้าที่ที่ตนได้รับผิดชอบ  นิสสยสัมปันโน คือ เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีและได้รับความเชื่อถือจากผู้อื่น  เข้าใจบุคคลหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็นอย่างดี

               การวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗

               คุณสมบัติของผู้นำในทางพระพุทธศาสนาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ที่เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ เป็นผู้ประกอบด้วยหลักธรรม ๗ ประการ ว่าเป็นคนดี (สัตบุรุษ) คนที่สมบูรณ์แบบหรือมนุษย์โดยสมบูรณ์ถือว่าเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ชาติ  ถ้าหากใครมีคุณธรรมของมนุษย์ที่แท้ ๗ ประการนี้  และสามารถประพฤติได้อย่างถูกต้องตามหลักการเหล่านี้แล้วย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญ  ซึ่งสัปปุริสธรรม ๗ คือ ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ,คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี[๓] (qualities of a good man; virtues of a gentleman) มีรายละเอียดดังนี้คือ

               ๑. ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล (knowing the law ; knowing the cause) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ ต้องเป็นผู้รู้หลักการทำงาน เข้าใจระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆเป็นอย่างดีและสามารถแสดงตนเป็นผู้นำในด้านนี้ได้อย่างชัดเจนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

               ๒. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก (knowing the meaning; knowing the purpose ; knowing the consequence) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้  ต้องเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจในนโยบาย  มีความมุ่งหมายในการกระทำตามจุดประสงค์ขององค์การที่ตั้งไว้  และรู้ผลหรือประโยชน์ที่เกิดจาการกระทำนั้นๆด้วย
               ๓. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม (knowing oneself) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ ต้องรู้จักตนเอง ให้มองตนเอง ว่ามีความพร้อมทั้งกายและใจ การประพฤติตนที่เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
               ๔. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี (moderation ; knowing how to be temperate) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ ต้องเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้กำลัง ความสามารถ งบประมาณ   บุคลากรและเทคโนโลยีในการดำเนินงานและการแข่งขันกับองค์การอื่นๆ
               ๕. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน (knowing the proper time; knowing how to choose and keep time) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ ต้องเป็นผู้การะทำการใดๆ ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา ซึ่งเวลาเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการทำงานให้สำเร็จ
               ๖. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม (knowing the assembly ; knowing the society) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ต้องเป็นผู้รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้   ซึ่งมีผลให้องค์การได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากชุมชน
               ๗. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล (knowing the individual; knowing the different individuals) คุณสมบัติของผู้นำในข้อนี้ ต้องรู้อัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรมของบุคคลว่าเป็นอย่างไร   และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ว่าจะสามารถมอบหมายให้ปฏิบัติงานใดๆขององค์การเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้

               การประยุกต์ใช้แนวคิดคุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ในสังคมไทยปัจจุบัน ๓ ด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านการเมืองการปกครอง ดังนี้

               ๑. การนำแนวคิดคุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยด้านสังคมนั้น  โดยผู้นำต้องรอบรู้หลักการดำรงชีวิตของประชาชนในสังคมให้มีความสงบสุข สอดคล้องกับหลักสัปปุริสธรรม ๗ สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในสังคม มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงาม  การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด  พิจารณาวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสม  และตัดสินใจเพื่อให้สังคมมีความเจริญเหมาะสมกับกาลเทศะ สร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม  
               ๒. การนำแนวคิดคุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๙ มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยด้านเศรษฐกิจ  โดยผู้นำต้องเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจ มีความสอดคล้องกับหลักสัปปุริสธรรม ๗ ความเพียรพยายาม มักน้อย สันโดษและเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองและประชาชนให้บรรลุถึงความสงบสุขแห่งชีวิต  มีความรอบรู้รอบคอบไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสภาพของสังคมที่ตกอยู่ในกระแสแห่งบริโภคนิยม  มีวินัยในตนเอง สามารถนำพาผู้อื่นให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้ อยู่ในทำนองคลองธรรมที่ดี
               ๓. การนำแนวคิดคุณสมบัติของผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน ด้านการเมืองและการปกครอง โดยผู้นำต้องเป็นผู้รู้หลักการของการเมืองการปกครองที่ดี มีความสอดคล้องกับหลักสัปปุริสธรรม ๗  บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และสามารถตัดสินใจทางการเมืองการปกครองโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งและการแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม
               ดังนั้น ผู้นำจึงมีความสำคัญดุจเข็มทิศคอยกำหนดทิศทางของคนเดินทาง เป็นเสาเข็มที่มีความจำเป็นต่อโครงสร้างของบ้าน  อีกทั้งเป็นผู้ที่สร้างหลักจริยธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นหลักชัยของประเทศชาติ  จึงจำเป็นต้องมีผู้นำเพื่อรับภาระการบริหารกิจการบ้านเมือง ซึ่งผู้นำจะต้องเป็นผู้สร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อยู่ภายใต้การปกครองและเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม  จึงต้องพิจารณาถึงบุคคลที่เป็นผู้นำของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ

                   พระถนัด  วฑฺฒโน (บุตรสวัสดิ์)

               




                         [๒] องฺ.ติก. (ไทย) ๒๐/๒๐/๑๖๓.

                         [๓] พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์   ฉบับประมวลธรรม  พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, ๒๕๓๒, หน้า ๒๔๔-๒๔๖., องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๖๘/๑๔๓ - ๑๔๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น