การดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจ ๔ ของเยาวชน



การดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจ ๔ ของเยาวชนเรื่อง

การดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจ ๔ ของเยาวชน
โดย : พระสมชาย ปโยโค (ดำเนิน) น.ธ.เอก, พธ.บ, พธ.ม.
๑. บทนำพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่มุ่งเน้นสอนให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นคนดี สามารถควบคุม กาย วาจา ใจ เกิดกระบวนการพัฒนาในด้านต่างๆ ในทางประวัติศาสตร์ชาวไทยได้นับถือศาสนาพุทธต่อเนื่องตลอดมา ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันกลมกลืนกับหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สังคมไทยในปัจจุบันได้ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการทางสังคมมาแล้ว ๓ ยุค คือ สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมข้อมูลข่าวสาร
[๒] สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมอย่างมากมาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการหลงใหลยอมรับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และศีลธรรมอันดีงามไทยที่ได้รับการสืบทอดมายาวนาน เช่น ปัญหาโสเภณี การทำแท้ง การพนัน การชู้สาว เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาเยาวชนนั้น เป็นปัญหาที่ต้องป้องกันและแก้ไขด้วยศีลธรรม หากเยาวชนเหล่านั้นได้รับการเรียนรู้และอบรมสั่งสอนในเรื่องศีลธรรมด้วยความ สมบูรณ์แล้ว พวกเขาก็จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เพราะการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กหรือเยาวชน ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่กำลังสดใส ตื่นตัว เต็มไปด้วยพลังทางกาย พลังทางความคิด และพลังสติปัญญานั้น ถ้าเยาวชนเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธี อย่างมีระบบแบบแผน เยาวชนก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ แต่ในขณะเดียวกันหากเยาวชนได้รับการพัฒนาไม่ถูกวิธีขาดระบบแบบแผนที่ดีพอ เยาวชนก็จะเป็นปัญหาสำคัญของชาติ
๒. หลักอริยสัจ ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
๒.๑ ความหมายของอริยสัจ อริยสัจเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ถึงความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆและในคัมภีร์พระพุทธศาสนาได้ปรากฏเนื้อหาที่เป็นความหมายแห่งอริยสัจ ซึ่งมีความสอดคล้องกันไว้โดยสังเขป ดังนี้ อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า “ตสฺมา อริยาน สจฺจานิ ความว่า สัจจะทั้งหลาย เหล่านั้นเป็นของแท้ ไม่เป็นโดยประการอื่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัจจะของพระอริยะทั้งหลาย ก็พระอริยะทั้งหลายย่อมไม่แทงตลอดสัจจะทั้งหลายที่แปรผันเป็นอย่างอื่น โดยความจริงของพระอริยะ”
[๓] คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสาจารย์ให้ความหมายของอริยสัจไว้ ๔ นัยว่า
๑) เป็นสัจจะที่พระอริยตรัสรู้
๒) เป็นสัจจะของพระอริยะ
๓) เป็นสัจจะที่ทำให้เป็นอริยะ
๔) เป็นสัจจะอย่างอริยะ คือ จริงแท้ ไม่เท็จ ไม่ลวง
[๔]คัมภีร์มังคลัตถทีปนี พระสิริมังคลาจารย์ให้ความหมายไว้เป็น ๓ นัย ดังนี้
๑) เป็นของจริง เพราะเป็นธรรมชาติจริงแท้
๒) เป็นสัจจะของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย
๓) เพราะเป็นสัจจะที่ทำให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะสัจจะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้จำเพาะด้วยพระองค์เอง
[๕] อริยสัจ คือ หลักธรรมว่าด้วยความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของอริยบุคคลเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาและจัดเป็นหลักธรรมที่เป็นหลักของเหตุและผลทางพระพุทธศาสนา หลักคำสอนทั้งหมดจะสรุปประมวลลงในหลักอริยสัจ ๔ ประกอบด้วยหลักธรรม ๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค
[๖] ทุกข์ ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้นทุกขสมุทัย เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิดทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์
[๗] สรุปได้ว่า อริยสัจ ๔ เป็นกระบวนการแก้ปัญหา หรือดับทุกข์สำหรับมนุษย์ การที่จะนำเอาอริยสัจ
๔ มาใช้ในชีวิต จะต้องเข้ากระบวนการของอริสัจให้ถูกต้อง ได้แก่ ประการแรก กำหนดรู้ปัญหาหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ประการที่สอง ค้นหาสาเหตุของความทุกข์ที่เกิดขึ้นให้ได้ และตัดต้นเหตุนั้นเสีย พิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ ประการที่สาม กำหนด หรือเข้าใจเป้าหมายของการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนว่า ทำเพื่ออะไร ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรการรู้ว่าปัญหานั้นแก้ได้ และแก้ปัญหานั้นให้สิ้นสุด และประการที่ ๔ ต้องปฏิบัติตามแนวการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักมรรค
๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น กระบวนการทั้ง ๔ นี้ เป็นวิธีการแก้ปัญหาตามหลักพระพุทธศาสนา ที่เน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
๒.๒. การแก้ไขปัญหาของเยาวชนตามแนวทางอริยสัจ ๔ เนื่องจากเยาวชนเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม มีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม ซึ่งเยาวชนเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปสู่การอยากรู้ อยากลอง อยากเด่น อยากเป็น จะเห็นได้ว่านับวันปัญหาที่เกิดกับกลุ่มวัยเยาวชนเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การดื่มเหล้า การเที่ยวกลางคืน การติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร[๘]สังคมไทยในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจนำไปสู่สังคมล่มสลายเนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดกับเยาวชนไทยขั้นที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสมในเวลาเรียน ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เป็นต้น[๙] ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาเยาวชนตามแนวอริยสัจ ๔ จึงเริ่มต้นจากการกำหนดตัวทุกข์ในฐานะที่เป็นตัวปัญหา เมื่อกำหนดได้แล้วควรจะเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร พร้อมกันนั้นก็กำหนดเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนว่า จะจัดการกับสาเหตุของปัญหานั้น อย่างไร จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้ขั้นทุกข์ เป็นตัวปัญหา เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราจะต้อง กำหนดรู้ให้ได้ว่า ปัญหานั้นคืออะไร มีสภาพเช่นไร เช่น นักเรียนสอบตก ปัญหาการโดดเรียน การไม่ตั้งใจเรียน ปัญหายาเสพติด การทะเลาะวิวาท เรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ถือว่าเป็นตัวทุกข์ หรือ ตัวปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข เป็นการกำหนดให้รู้จักสภาพปัญหา และระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข พิจารณาดูปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรอบคอบและพยายามกำหนดขอบเขตของปัญหาขั้นสมุทัย เป็นขั้นตอนของการพยายามแสวงหาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร เช่น การสอบตกหรือสอบไม่ได้ มีสาเหตุมาจากเราหรือไม่ เราไม่ตั้งใจศึกษาหรือไม่ หรือการสอบแข่งขันคนอื่นอาจเก่งกว่าเรา เพราะปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้
 ขั้นนิโรธ เป็นขั้นตอนกำหนดเป้าหมายคือความหมดสิ้นปัญหา พร้อมกันนั้นก็กำหนดกรรมวิธี ได้แก่ แนวทาง วิธีการ และขั้นตอน ในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่วางไว้อย่างถูกต้อง เช่น เมื่อมีการสอบตก ต้องตั้งเป้าหมายว่าต่อไปจะต้องสอบให้ได้ จึงจะทำให้เกิดความสบายกาย สบายใจ ไม่มีความกังวลใจ
 ขั้นมรรค หลักการและวิธีการของการแก้ปัญหาเยาวชน เป็นขั้นลงมือปฏิบัติตามกรรมวิธีตามที่ได้วางไว้ เช่น เมื่อเกิดการสอบตกแล้ว และจะต้องมีการปรับปรุงตัวเอง ทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ ขยันเพิ่มขึ้นและค้นคว้าเพิ่มเติมจากสิ่งที่ครูสอน พยามคบหาแต่กัลยาณมิตร ตั้งใจเรียน งดการเที่ยวในกลางคืน และรู้จักการวางแผนในการดำเนินชีวิตต่อไปสรุปได้ว่า อริยสัจ ๔ เป็นกระบวนการแก้ปัญหา การที่จะนำเอาอริยสัจ ๔ มาใช้ในชีวิต จะต้องเข้ากระบวนการของอริสัจให้ถูกต้อง ได้แก่ ประการแรก กำหนดรู้ปัญหาหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ประการที่สอง ค้นหาสาเหตุของความทุกข์ที่เกิดขึ้นให้ได้ พิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ ประการที่สาม กำหนด หรือเข้าใจเป้าหมายของการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนว่า ทำเพื่ออะไร ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรการรู้ว่าปัญหานั้นแก้ได้ และประการที่ ๔ ต้องปฏิบัติตามแนวการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักมรรค ๘ กระบวนการทั้ง ๔ นี้ เป็นวิธีการแก้ปัญหาตามหลักพระพุทธศาสนา ดังตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่ง เรียนไม่เก่ง เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายในการเรียน วันประกาศผลการเรียน คือ วันที่เขามีความทุกข์มากที่สุด (ทุกข์ ) ปัญหาก็คือว่า ผลการเรียนเขาต่ำมาก เขาจึงหาสาเหตุ (สมุทัย) เช่น เขาไม่ตั้งใจเรียน เมื่อเรียนไม่เข้าใจไม่ถามเพื่อน ไม่ถามครู ทำการบ้านและส่งงานไม่ครบ จิตใจวอกแวกขณะที่ครูสอน และไม่ขยันหมั่นเพียร เขารู้ว่า ปัญหานี้แก้ได้ และเขาจะแก้ปัญหานี้ (นิโรธ) เขาหาหนทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา ดังนี้ (มรรค) พยายามตั้งใจเรียน ทำการบ้านและส่งงานให้ครบตามกำหนด หมั่นอ่านหนังสือทบทวนความรู้ อ่านเพิ่มเติมเสริมความรู้
 ๒.๓ การพัฒนาตามหลักไตรสิกขาไตรสิกขา เป็นระบบฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ หรือฝึกฝนอบรม ใน ๓ ด้าน คือ
๑) อธิสีลสิกขา
๒) อธิจิตตสิกขา
๓) อธิปัญญาสิกขา
[๑๐]  เนื่องจากองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิต ของมนุษย์ ที่มี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
๑.อธิศีลสิกขา หมายถึง ธรรมที่มีเจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้นและของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่
[๑๑] บุคคลผู้มีศีลนี้ จักต้องมีการฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ หมายถึง รวมเอาองค์มรรคข้อสัมมาวาจา เป็นต้น ด้วยศีลสิกขานี้เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ๒.อธิจิตสิกขา หมายถึง การฝึกฝนด้านคุณภาพของจิต ได้แก่ การรวมเอาองค์มรรคข้อสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิเข้ามา เพื่อการฝึกให้มีจิตใจเข้มแข็ง มีความมั่นคง ควบคุมตนเองได้ มีสมาธิ มีจิตที่สงบ โดยเฉพาะการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้งและตรงตามความเป็นจริง
๓.อธิปัญญาสิกขา หมายถึง การฝึกปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เป็นต้น ไม่มีกิเลสแอบแฝง คิดพิจารณากิจทั้งปวง ในทางที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
[๑๒]ไตรสิกขาเป็นหลักการพัฒนามนุษย์เป็นระบบ คือ การพัฒนาจะต้องเป็นแบบบูรณาการทางด้านรูป (ร่างกาย คือ การประพฤติทางกาย วาจา) โดยให้ยึดหลักของศีล เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ แล้วดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลาง เช่น การบริโภคปัจจัย ๔ ให้พอเหมาะกับการเลี้ยงดู เช่นตัวอย่างเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย และยารักษาโรค ส่วนทางด้านจิตใจ ต้องสร้างให้จิตยึดมีความมั่นคงบริสุทธิ์แจ่มใสด้วยสมาธิ และเมื่อจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวก็จะเป็นพื้นฐานของการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)ให้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือ ปัญญาได้เกิดขึ้น เพราะมีสัมมาทิฏฐิ ตัวอย่างของความเห็นหรือความเชื่อที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น และพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติดี เข้าสู่การฝึกปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขาชั้นต้น คือ ศีล พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่สมาธิ และจนถึงระดับสูงสุด คือปัญญา

 สรุปได้ว่า เยาวชนเป็นกลุ่มชนที่เป็นอยู่ในวัยสำคัญ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ มีสติปัญญา มีเหตุผล มีคุณธรรม และ มีพลานามัยที่สมบูรณ์ สรรค์สร้างเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ หากได้รับการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือได้รับการสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของเยาวชน จะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อการทำงานอย่างมีคุณภาพการพัฒนาเยาวชนเพราะผู้ใหญ่จะมีคุณภาพดีพร้อมทั้งคุณธรรมดีได้จะต้องมีรากฐานมาจากกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมที่มีประสิทธิภาพจากสถาบันทางสังคม อันได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกันในการดำเนินการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ลดปัญหาสังคม และร่วมกันพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

อ้างอิงก.ปฐมภูมิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด ๙๑ เล่ม. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗.ข.ทุติยภูมิ
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. การจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๓.กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๖.
ปัญญา สละทองตรงและคณะ. รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสังคมไทย : ศึกษาสภาพความเป็นจริงและความคาดหวังของผู้เรียนธรรมศึกษาทุกระดับช่วงชั้น ปีงบประมาณ๒๕๔๙. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๔๙.พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ :บริษัท เอส.อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๘.__________. พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙.พระพุทธโฆสะเถระ. คัมภีร์วิสุทธิมรรค. แปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถระ). พิมพ์ครั้งที่ ๖.กรุงเทพฯ : บริษัท ธราเพรส จำกัด, ๒๕๔๘.พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). พระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๙.วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร. มังคลัตถทีปนี แปลไทย ภาค ๒. กาญจนบุรี : สหายพัฒนาการพิมพ์, ๒๕๔๙.สำราญ เพียนอก, พันตำรวจเอก. “การดำเนินชีวิตตามแนววิถีพุทธของวัยรุ่น”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐.

[๑] กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, การจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๖), หน้า ๑.
[๒] พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), พระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์,พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๙), หน้า ๖–๗. [๓] สํ.ม.อ. (ไทย) ๕/๒/๔๔๔.
 [๔] พระพุทธโฆสเถระ, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, แปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ), พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพฯ : บริษัท ธราเพรส จำกัด, ๒๕๔๘), หน้า ๘๒๘- ๘๒๙. [๕] วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร, มังคลัตถทีปนี แปลไทย ภาค ๒, (กาญจนบุรี : สหายพัฒนาการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๓๓๘. [๖] วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๖/๓๓. [๗] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, (กรุงเทพฯ :บริษัท เอส.อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๘), หน้า ๑๕๕ . [๘] สำราญ เพียนอก, “การดำเนินชีวิตตามแนววิถีพุทธของวัยรุ่น”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย :มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพุทธศักราช, ๒๕๕๐), หน้า ๒-๓. [๙] ปัญญา สละทองตรงและคณะ, “การศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสังคมไทย : ศึกษาสภาพความเป็นจริงและความคาดหวังของผู้เรียนธรรมศึกษาทุกระดับช่วงชั้น ปีงบประมาณ ๒๕๔๙”, รายงานวิจัย, (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม,๒๕๔๙), หน้า ๓. [๑๐] วิ.มหา. (ไทย) ๑/๔๕/๓๓. [๑๑] พระพุทธโฆสะเถระ, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, หน้า ๙. [๑๒] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ,หน้า ๑๙๔-๑๙๕.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น