การศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล



การศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล


บทที่ ๕

สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ

๕.๑ สรุปผลการศึกษา

จากการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นเรื่อง พฤติกรรมความแปลกแยก (Alienation) ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล สามารถสรุปผลได้ว่า

๕.๑.๑ แนวคิดทฤษฎีความแปลกแยกในทางตะวันตกและในทางพระพุทธศาสนา

คำว่า “Alienation” หรือ “ความแปลกแยก” ในภาษาอังกฤษนี้มาจากภาษาละตินว่า “alienatio” แปลว่า ความเป็นอื่นไป หมายถึง สภาพของจิตใจมนุษย์ที่ไม่อยู่ในสภาพตามธรรมชาติของตน แนวความคิดดั้งเดิมของความแปลกแยกเป็นแนวความคิดในทางศาสนาว่า “ความแปลกแยกที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า” (alienated from God) ผู้นำแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความแปลกแยกที่สำคัญที่สุด คือ เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) โดยที่เฮเกลถือว่า สรรพสิ่งที่ล้วนมีสภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภายในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างสิ่ง ๒ สิ่ง คือ สิ่งที่เป็นอยู่ (Thesis) กับสิ่งที่ไม่เป็น (Antithesis) อันเป็นสภาวะตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่นั้น และทั้ง ๒ สิ่งนี้ล้วนเป็นไปในลักษณะของความเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกัน พัฒนากลายเป็นสิ่งอื่นใหม่ที่ดีขึ้น (Synthesis) กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า “ความแปลกแยก” ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับแนวความคิดในทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยหลัก “ไตรลักษณ์” ของสรรพสิ่งฝ่าย สังขตธรรมที่ถือว่า สรรพสิ่งย่อมมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยลักษณะความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นเป็นทุกข์หรือขัดแย้ง และอนัตตา ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาตามแนวคิดทฤษฎีความแปลกแยกในทางตะวันตกถือว่า ในสังคมสงฆ์พฤติกรรมความแปลกแยกมีลักษณะสำคัญที่แสดงออกมาใน ๒ คือ (๑) ความแปลกแยกในฐานะเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล อันเป็นลักษณะแรกของความแปลกแยก คือ “ความแตกต่าง” หรือ “การแบ่งแยก” พระพุทธศาสนาเรียกว่า “จริต ๖” ได้แก่ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต สัทธาจริต ญาณจริต หรือพุทธิจริต นอกจากนี้ยังเรียกด้วยคำอื่นที่เป็นไวพจน์ของจริต ได้แก่ วาสนา นิสัย ธาตุ หรือจะจำเพาะเจาะจงลงไปอีกเป็นจริตในทางธรรมเรียกว่า อุปนิสัย (๒) ความแปลกแยกในฐานะที่เป็นพฤติกรรมขัดแย้งในสังคมสงฆ์ เรียกว่า “อธิกรณ์” มี ๔ ประเภทได้แก่ (๑) พฤติกรรมความแปลกแยกด้านวิวาทาธิกรณ์ (๒) พฤติกรรมความแปลกแยกด้านอนุวาทาธิกรณ์ (๓) พฤติกรรมความแปลกแยกด้านอาปัตตาธิกรณ์ และ (๔) พฤติกรรมความแปลกแยกด้านกิจจาธิกรณ์

๕.๑.๒ พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล สามารถแสดงได้เป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑) ความแปลกแยกที่เป็นพฤติกรรมเชิงบวก หรือในแง่สภาวะที่เป็นอยู่ (Thesis) ของพระสงฆ์ ในที่นี้สามารถประมวลพฤติกรรมแปลกแยกเหล่านี้ได้ ๓ ประการ ดังนี้ (๑) ความแปลกแยกด้านคุณสมบัติพิเศษของพระสาวก เรียกว่า “เอตทัคคะ” (๒) ความแปลกแยกด้านอุปนิสัยที่แตกต่างกันของพระอรหันต์ (๓) ความแปลกแยกด้านการศึกษาธรรมวินัยเป็นกลุ่มพระสูตร กลุ่มศึกษาพระวินัย กลุ่มพระอภิธรรม

๒) ความแปลกแยกที่เป็นพฤติกรรมเชิงลบ หรือในแง่สภาวะปฏิเสธ (Antithesis) คือ ความแตกต่างที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลและกลุ่มอย่างรุนแรง เรียกว่า “กระบวนการแห่งความขัดแย้ง” แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑) พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในด้านทิฏฐิวิบัติ คือ มีความเห็นผิดในเรื่องพระธรรมวินัย เช่น พระอริฏฐะ ผู้มีทิฏฐิวิบัติว่า เมถุนธรรมเหมาะสมกับพระสงฆ์ ไม่มีโทษ หรือ พระภิกษุสาติ ผู้มีทิฏฐิวิบัติเกี่ยวกับวิญญาณว่าเป็นอนัตตา เป็นต้น

๒.๒ พฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในด้านอธิกรณ์ หรือความขัดแย้งที่รุนแรงของพระสงฆ์จำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) ด้านวิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ กรณีของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก่อความทะเลาะวิวาทกับพระภิกษุผู้มีศีลดีงาม และกรณีพระเทวทัตผู้ทำสังฆเภท เป็นต้น (๒) ด้านอนุวาทาธิกรณ์ เช่น กรณีของพระเมตติยะและพระภุมมชกะที่โจทพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกเที่ไม่มีมูล หรือกรณีของพระภิกษุฉัพพัคคีย์ใส่ความภิกษุอื่นด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล เป็นต้น (๓) ด้านอาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การประพฤติผิดในพระวินัยสงฆ์ด้วยอาบัติทั้ง ๗ กองมี ปาราชิก สังฆาทิเสส เป็นต้น รวมเป็นอาบัติที่มาในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ เท่ากับหมายความว่า มีภิกษุผู้ประพฤติแปลกแยกจากหมู่สงฆ์ถึง ๒๒๗ กรณี และ (๔) ด้านกิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กรณีสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ผู้ว่ายากสอนยาก (อปโลกนกรรม) และกรณีภิกษุนิสิตของพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะ (ญัตติจตุตถกรรม)


๕.๑.๓ สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

การศึกษาสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาพฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลจัดเป็นลักษณะที่ ๓ ในกระบวนการความแปลกแยกที่เรียกว่า “Synthesis” สภาวะผสมผสาน คือ ขั้นตอนที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่าง “Thesis” กับ “Antithesis” แล้วเกิดเป็นสภาวะใหม่ขึ้น สภาวะใหม่นี้คือ วิธีการแก้ปัญหา มีดังนี้

๑) ความแปลกแยกที่เป็นพฤติกรรมเชิงบวก หรือในแง่สภาวะที่เป็นอยู่ (Thesis) มีสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) สาเหตุไกล ได้แก่ ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในชาติปางก่อนส่งผลให้บุคคลมีพื้นฐานของจิตใจที่แตกต่างกันในปัจจุบัน (๒) สาเหตุใกล้ คือ กุศลกรรมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความแปลกแยกที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน เพราะเป็นประโยน์ในการศึกษา ปกครองและเผยแผ่พระศาสนา

๒) ความแปลกแยกที่เป็นพฤติกรรมเชิงลบ หรือในแง่สภาวะปฏิเสธ (Antithesis) คือ ความแตกต่างที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ที่เป็นปัญหาในสังคมสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑) พฤติกรรมความแปลกด้านทิฏฐิวิบัติ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก (๑) ลัทธิศาสนาดั้งเดิมของตน เช่น ศาสนาพราหมณ์ ที่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดความเห็น และ (๒) การศึกษาหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนายังไม่เพียงพอ ส่วนวิธีการแก้ปัญหาพฤติกรรมความแปลกแยกในกรณีนี้ได้แก่ (๑) พระภิกษุทั้งหลายจะช่วยกันว่ากล่าวตักเตือน (๒) หากไม่ได้ผล พระภิกษุทั้งหลายก็จะนำเรื่องราวไปแจ้งแก่พระมหาสาวก หรือพระบรมศาสดา (๓) พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือพระมหาสาวกเรียกพระภิกษุนั้นมาสอบถามข้อเท็จจริง (๔) ตำหนิและว่ากล่าวตักเตือน (๕) แสดงหลักธรรม และ (๖) หากความเห็นนั้นเป็นความเห็นที่มีความสำคัญต่อพระวินัย ก็จะทรงยกขึ้นเป็นพุทธบัญญัติ

๒.๒) พฤติกรรมความแปลกด้านอธิกรณ์ มีสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาดังนี้

๒.๒.๑) วิวาทาธิกรณ์ มีสาเหตุมาจากวิวาทมูล, อกุศลมูล ๓ และกุศลมูล ๓ วิธีระงับได้แก่ ประชุมสงฆ์ สอบสวนความเป็นจริง บัญญัติสิกขาบท และระงับด้วยอธิกรณสมถะ ๒ คือ สัมมุขาวินัย คือ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ และ เยภุยยสิกา คือ การระงับอธิกรณ์ตามเสียงข้างมาก

๒.๒.๒) อนุวาทาธิกรณ์ มีสาเหตุมาจากวิวาทมูล ๖, อกุศลมูล ๓ และกุศลมูล ๓ อีกทั้งสาเหตุมาจากกาย และวาจา ส่วนวิธีแก้ปัญหาหรือระงับตามกระบวนการสงฆ์ เช่น ประชุมสงฆ์ สอบสวนความเป็นจริง และบัญญัติสิกขาบทแล้ว ยังสามารถระงับด้วยอธิกรณสมถะ ๔ คือ (๑) สัมมุขาวินัย คือ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (๒) สติวินัย คือ ระงับโดยประกาศว่าเป็นพระอริยะผู้มีสติสมบูรณ์ (๓) อมูฬหวินัย คือ ระงับโดยยกประโยชน์ว่าต้องอาบัติในขณะเป็นบ้า และ (๔) ตัสสปาปิยสิกา ระงับโดยลงโทษผู้ทำความผิด

๒.๒.๓) อาปัตตาธิกรณ์ มีสาเหตุหรือสมุฏฐานมาจากกาย วาจา และใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด ส่วนวิธีการแก้ปัญหาหรือการระงับได้แก่ (๑) สอบสวนท่ามกลางสงฆ์ (๒) แสดงธรรมมีกถา (๓) ทรงบัญญัติสิกขาบท เรียกว่า “บัญญัติพระวินัย” (๔) บทลงโทษที่ทรงใช้ได้แก่ การปรับอาบัติ มี ๓ ระดับ คือ อาบัติอย่างหนัก คือ ปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ส่วนอาบัติอย่างกลาง คือ สังฆาทิเสส แก้ไขหรือเยียวยาได้ด้วยการเข้าปริวาสกรรม และอาบัติอีก ๕ กองที่เหลือ (นิสสัคคียปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ อนิยต ทุกกฎ และทุพภาสิต) มีโทษเบาระงับด้วยการสารภาพต่อหน้าภิกษุด้วยกัน

๒.๔) กิจจาธิกรณ์ มีสาเหตุมาจากสงฆ์เพียงอย่างเดียว ส่วนวิธีการแก้ไขหรือการระงับมีดังนี้ (๑) ทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ (๒) เรียกมาสอบถามความจริงในท่ามกลางสงฆ์ (๓) ทรงตำหนิ (๔) แสดงธรรมีกถา (๕) ปรับอาบัติ (๖) ให้สงฆ์ลงนิคหกรรมต่างๆ (การลงโทษ) เช่น ตัชชนียกรรม (การขู่) และนิสยกรรม (การถอดยศ) เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง สังฆกรรมเพื่อระงับกิจจาธิกรณ์นี้จะต้องระงับด้วยสัมมุขาวินัย คือ ระงับในที่พร้อมหน้าสงฆ์เท่านั้น

๕.๒ ข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาวิเคราะห์เรื่องความแปลกแยกของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่ควรได้รับการศึกษาต่อไป

๕.๒.๑ การศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบ “ทฤษฎีความแปลกแยก” ในทางตะวันตก กับ “ทฤษฎีความแปลกแยก” ในพระพุทธศาสนา โดยเปรียบเทียบถึงความเหมือนและแตกต่างในระหว่างทฤษฎีทั้งสองนี้อย่างละเอียดทั้งในด้านปรัชญา จิตวิทยา และสังคมวิทยา

๕.๒.๒ การศึกษาวิเคราะห์ความแปลกแยกของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยหลังพุทธ-ปรินิพพาน จนถึง พ.ศ. ๙๐๐ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ของการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ถึง ๑๘ นิกาย หรือ ๒๐ นิกาย ตลอดจนการเกิดนิกายพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ๒ นิกาย คือ เถรวาท และ อาจริยวาท

๕.๒.๓ ศึกษาพฤติกรรมความแปลกแยกของพระสงฆ์ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาปัญหา สาเหตุ และวิธีการที่คณะสงฆ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนำมาใช้แก้ปัญหาความแปลกแยกของพระสงฆ์เหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น