การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่อง “วาสนา” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท



การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่อง “วาสนา” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท


สรุปผลการวิจัย

จากการวิจัยพบว่า คำว่า “วาสนา” ตามรากศัพท์ หมายถึง ผลบุญหรือผลบาปที่มีอยู่ในจิต (จิตฺเต วสตีติ วาสนา) หรือที่ได้อบรมสั่งสมมาดีแล้ว (วสียเตติ วา วาสนา) ส่วนที่ปรากฏในอรรถกถา มีความหมายที่จำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่า หมายถึง บุญหรือบาปได้อบรมสั่งสมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นนิสัยประจำตัวปัจจุบันในการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ ตามหลักพระพุทธศาสนา “วาสนา” จึงเป็นคำกลางๆ สามารถเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล (บุญ) ฝ่ายกลางๆ (อัพยากต) และฝ่ายอกุศล (บาป) แต่เมื่อนำมาใช้ในสังคมไทย มีความหมายเปลี่ยนไป กลายเป็นวาสนาที่มีความหมายจำเพาะในทางดี หรือเป็นกุศลฝ่ายเดียว กล่าวคือ หมายถึง คุณธรรม ความดีงาม หรือบุญบารมีที่ทำให้มีลาภยศ สรรเสริญ และความสุข ความเจริญก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆ และ ได้รับความเคารพย่ำเกรง จึงมักใช้คู่กับคำที่มีความหมายในทางดีๆ เช่น “บุญ” “บารมี” หรือ “อำนาจ” เป็น “บุญวาสนา” “วาสนาบารมี” หรือ “อำนาจวาสนา” เป็นต้น หากใช้ในทางที่ไม่ดีก็จะปฏิเสธว่า “ไม่มีวาสนา” หรือ “ไม่มีบุญวาสนา” เป็นต้น

ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาตนเองในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่า “วาสนา” มีความสำคัญมาก ๔ ประการ กล่าวคือ (๑) วาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ (๒) วาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาตนเอง (๓) วาสนาเป็น “กรรมลิขิต” มิใช่ “พรหมลิขิต” และ (๔) วาสนาเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเนื่องจาก “วาสนา” ในทางพระพุทธศาสนามีความสำคัญทั้ง ๔ ประการนี้เองจึงทำให้ “วาสนาบางอย่าง” เป็นสิ่งที่แก้ไขและเปลี่ยนแปลงสร้างขึ้นใหม่ได้ โดยมีหลักการสร้างวาสนาใหม่และแก้ไขวาสนาเก่าที่เรียกว่า “สัมมัปปธาน” หรือ “ปธาน” (ความเพียรพยายามชอบ) มี ๔ ประการ คือ (๑) สังวรปธาน (เพียรระมัดวัง) (๒) ปหานปธาน (เพียรละ) (๓) ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ) (๔) อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา) และ “ภาวนา ๔” คือ การทำ หรือสร้างวาสนาที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เจริญงอกงามขึ้น และการทำ หรือพัฒนาวาสนาที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปอีกกว่าเดิม มี ๔ ประการ คือ (๑) กายภาวนา การพัฒนากาย (๒) สีลภาวนา การพัฒนาศีล (๓) จิตตภาวนา การพัฒนาจิตใจ และ (๔) ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา



ในประเด็นเกี่ยวกับหลักธรรมที่มีความสัมพันธ์กับวาสนานั้นพบว่า คำว่า “วาสนา” “นิสัย” และ “จริต” เป็นศัพท์ธรรมที่เป็นไวพจน์ใช้แทนกันและกัน หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ในจิตใจ หรือพื้นฐานทางจิตใจ และพฤติกรรมที่เป็นความเคยชินต่างๆ ที่ติดอยู่ทางกาย วาจา และใจ ส่วนความสัมพันธ์กับ “บุญ” นั้น ถือว่า บุญในฐานะที่เป็นกุศลกรรม มีความสัมพันธ์กับวาสนาในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศลวาสนา ส่วนบุญในฐานะที่เป็นวิบากของกุศลกรรม บุญในลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กับวาสนาในฐานะที่เป็นวิบากและเป็นวาสนาอย่างหนึ่ง ความสัมพันธ์กับ “บารมี” นั้น ถือว่าบารมีเป็นวาสนาอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่จัดว่าเป็นวาสนาระดับสูงสุด ที่หวังความเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันตสาวก เท่านั้น ความสัมพันธ์กับ “อุปนิสัย” ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “วาสนา” เพราะ “อุปนิสัย” เป็นวาสนาในทางธรรมเรียกว่า “กุศลวาสนา” และความสัมพันธ์กับ“อาสวะ” นั้นถือว่า อาสวะเป็นอกุศลวาสนา หรือวาสนาฝ่ายบาป

นอกจากนี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า “การบรรลุธรรม” มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “วาสนาฝ่ายกุศล” ที่เรียกว่า “บุญ” หรือ “บารมี” ในฐานะเป็นธรรมที่คอยส่งเสริม สนับสนุน หรืออุดหนุนให้ได้บรรลุธรรมในขั้นต่างๆ ที่ตนเองที่เคยได้กระทำมา (ปุพพวาสนา) และประเด็นสุดท้าย คือ การละวาสนานั้น ถือว่า มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละวาสนาได้ทั้งหมด ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ สามารถละวาสนาได้อย่างเด็ดขาดเฉพาะกุศลวาสนาประเภทที่เกิดจากกุศลมูล กับ อกุศลวาสนาประเภทที่เกิดจากอกุศลมูล เพราะมูลราก (อกุศลมูล) ของวาสนาประเภทนี้ท่านเหล่านั้นได้ทำลายหมดสิ้นแล้ว วิบากจึงหมดสิ้นไปด้วย ส่วนกุศลวาสนาที่เป็นความประพฤติ หรือพฤติกรรมความเคยชินทางกายและวาจา รวมทั้งคุณลักษณะทางจิตที่เป็นอุปนิสัย และอกุศลวาสนาที่เป็นความประพฤติเคยชินทางกายและวาจา ตลอดจนอัพยากตวาสนานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า กับ พระอรหันต์ ท่านไม่สามารถละได้


๔.๒ ข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาวิจัยแนวความคิดเรื่องวาสนาในครั้งนี้ ผู้วิจัยเห็นว่ายังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม อย่างเช่น ประเด็นว่าด้วยวาสนากับการปฏิบัติธรรม หรือการปฏิบัติกรรมฐานในทางพระพุทธศาสนา หรือประเด็นว่าด้วยวาสนากับอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น