การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานของผู้นำ


การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานของผู้นำ

การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานของผู้นำ
บทนำ
              สัมมาวาจา เป็นองค์มรรค ประการหนึ่ง ในมรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ[๑] เป็นหลักประพฤติปฏิบัติหรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางของกระบวนธรรมที่เข้าใจแล้วนั้นเป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง การปฏิบัติตามมรรค ย่อมมีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหา กำจัดทุกข์ ช่วยให้มนุษย์บรรลุความดีงามที่สูงขึ้นไป วาจาเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะวาจาเป็นกระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ได้ต่อสู้กับธรรมชาติและดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่รอด โดยใช้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นเครื่องมือช่วยให้ทำสิ่งต่างๆ ดังจะเห็นได้จากคำสอนที่เกี่ยวกับการพูดที่แสดงหลักธรรมในด้านพฤติกรรมที่แต่ละคนแสดงออกต่อกัน ต้องรู้จักสำรวมในการพูด พูดสุภาพอ่อนหวาน พูดคุยกันด้วยความรักความเมตตาต่อกัน เพื่อสร้างมิตรไมตรีต่อกัน เพื่อให้ถ้อยคำเป็นที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะอย่างสงบสุข และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้[๒]
              สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมอย่างมากมาย ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุว่ามนุษย์ในโลกปัจจุบันล้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการแข่งขันกัน จึงใช้ความพยายามในทุกด้านในการที่จะเอาชนะคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามในทุกทาง ถึงแม้วิถีทางเหล่านั้นจะเป็นวิถีทางที่ผิดก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมของผู้มีบทบาททางการเมืองการปกครองของประเทศ ที่มักจะใช้มิจฉาวาจาในการใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งกันและกัน การแย่งชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจการเอาเปรียบกันหรือการใช้มิจฉาวาจาให้หลงเชื่อ เพื่อหาประโยชน์จากผู้อื่น ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาด้านจริยธรรมมากมาย การใช้วาจาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแสดงออกด้วยวาจาย่อมเป็นไปได้ทั้งคุณและโทษ  ถ้าเราใช้วาจาไปในทางที่ผิด ก็อาจทำให้เกิดโทษแก่ผู้ใช้วาจานั้นได้ ดังคำสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองไว้ว่า
                                 ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
                             มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
                            แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
                            จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา[๓]
              จากคำกลอนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการกล่าววาจาที่ต่างกันสองด้าน ผู้ที่กล่าววาจาไพเราะอ่อนหวาน สร้างสรรค์ประโยชน์ ทำให้ผู้ฟังเกิดความพึงพอใจให้ความเมตตานิยมชมชอบ บุคคลที่กล่าววาจาดี พูดน่าฟังจึงมีโอกาสสร้างความก้าวหน้าและความสำเร็จให้แก่ตนเองในการทำงาน ในทางตรงข้าม คนพูดไม่ดี พูดไม่เป็น สื่อภาษาไม่สร้างสรรค์ เพราะใช้คำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย ก็อาจส่งผลให้ผู้พูดได้รับความเกลียดชัง เกิดความล้มเหลวในชีวิตขึ้นได้ ดังที่พระวังคีสะได้กล่าวคาถาต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าตรัสว่า
                   บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
                 และไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิตแท้
                 บุคคลพึงกล่าวเฉพาะวาจาเป็นที่รัก เป็นที่ถูกใจผู้ฟัง
                 พึงเว้นคำลามกทั้งหลายเสีย กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักแก่คนอื่น”[๔]
     จากคาถาแสดงให้เห็นถึงแนวทางของการใช้วาจาอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ในการประกอบดำรงชีพ เพราะว่าการพูดชั่วย่อมนำความเกลียดชังและความทุกข์มาสู่ตนเอง ส่วนการพูดดีย่อมนำประโยชน์ ความรักและความสุขมาให้ ประโยชน์และโทษของการพูดปรากฏเป็นหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ดีทีสุดคือในเรื่องของโคนันทิวิสาลในนันทิวิสาลชาดก[๕] ที่กล่าวถึงการกล่าววาจาของพราหมณ์กับโคนันทิวิสาลที่ไม่ยอมลากเกวียน เมื่อได้รับฟังคำกล่าวที่ไม่สุภาพจากพราหมณ์จึงหมดกำลังใจที่จะลากเกวียน แต่เมื่อพราหมณ์ได้กล่าววาจาที่สุภาพอ่อนหวานทำให้เกิดกำลังใจที่จะลากเกวียนจนได้รับชัยชนะ เพราะวาจาคือถ้อยคำที่พูดออกมาเป็นภาษาให้ผู้อื่นฟัง เป็นสิ่งสำคัญที่แสดงออกถึงอุปนิสัยและน้ำใจของผู้พูดว่าดีหรือร้ายอย่างไรพูดจริง ก็ส่อน้ำใจผู้พูดว่าเป็นคนซื่อตรงสุจริตไว้ใจได้ ถ้าพูดเท็จ ก็ส่อน้ำใจผู้พูดว่าเป็นคนคดโกง ทุจริตไว้ใจไม่ได้ ถ้าพูดชักนำให้เกิดสามัคคีกัน ก็ส่อน้ำใจผู้พูดว่าเป็นคนรักสงบ ปราศจากความเห็นแก่ตัวและความริษยา ถ้าพูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้แตกสามัคคี ก็ส่อน้ำใจผู้พูดว่าเป็นคนไม่รักสงบมีความริษยาผู้อื่นมีใจทราม ถ้าพูดไพเราะอ่อนโยนก็ส่อน้ำใจเป็นคนนุ่มนวลควรคบ ถ้าพูดหยาบคายก็ส่อน้ำใจเป็นคนลามกร้ายกาจ ถ้าพูดประกอบด้วยประโยชน์ก็ส่อน้ำใจเป็นผู้ใหญ่ รู้คุณค่าและโทษของวาจา จึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งดังภาษิตของวิเทหดาบสว่า
                             “แม้หากวาจาจะมีประโยชน์มาก
                   แต่ผู้อื่นได้รับความขัดเคืองใจ
                   เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
                   วาจานั้นบัณฑิตก็ไม่ควรจะกล่าว”[๖]
     จากภาษิตแสดงถึงการระมัดระวังในการใช้วาจา เพราะชนทั้งหลายจะรู้ความประสงค์ของกันและกันก็ด้วยวาจาที่พูดกัน จะรักกันนับถือกันก็ด้วยวาจา จะโกรธกันเกลียดกันก็ด้วยวาจา จะสามัคคีกันหรือแตกแยกกันก็ด้วยวาจา เพราะฉะนั้น จึงต้องเลือกพูดแต่วาจาที่เป็นคุณที่เรียกว่าวาจาสุภาษิต ไม่พูดวาจาที่เป็นโทษที่เรียกว่าวาจาทุพภาษิต นอกจากนี้ยังต้องรู้จักการใช้วาจาให้เหมาะสม ระมัดระวังการใช้วาจาที่ถูกกาลเทศะ การพูดนั้นเป็นวิธีการสื่อความหมายหรือสื่อสาร จากผู้พูดสู่ผู้ฟัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ทั้งยังเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความสงบสุขและความสำเร็จ มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และประเทศชาติ ประยุกต์วิธีเพื่อไปแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความรุนแรง ปัญหาทางเศรษฐกิจ[๗] มีคำกล่าวไว้ว่า “เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีเป็นดี” อยู่ที่เราจะเลือกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการสูญเสีย[๘] ความสำคัญของการใช้วาจาจึงอยู่ที่ว่าผู้พูดเพื่อสื่อสารกันนั้นใช้ความระมัดระวังในคำพูด หลีกเลี่ยงการใช้คำที่จะก่อให้เกิดการโต้เถียงและความแตกแยก หรือคำพูดที่มุ่งประณามผู้อื่น ใช้คำพูดถูกต้อง เป็นการพูดความจริงตามที่รู้เห็น ให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจประเทืองสติปัญญา หรือให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เพราะว่าการพูดชั่วย่อมนำความเกลียดชังและความทุกข์มาสู่ตนเอง ส่วนการพูดดีย่อมนำประโยชน์ ความรักและความสุขมาให้ เพราะว่าเมื่อสามารถพัฒนาตนให้มีสติปัญญามีคุณภาพที่ดีแล้ว ก็จะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทิศทางที่ถูกต้อง มีความประพฤติที่ดี ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ความว่า
...การจะไปให้ถึงจุดหมาย จึงต้องใช้ความสามารถและความรอบคอบระมัดระวังมาก ตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดไปจนถึงที่สุด. แรกเริ่ม ก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยกทางร่วม ที่จะเดินไปได้เป็นสองทางสามทาง ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะสะดวก ปลอดภัย ไปถึงที่หมาย...[๙]
     จากพระบรมราโชวาทแสดงถึงกระบวนการการฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม คือ การพัฒนาพฤติกรรมทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมือนกับส่วนประกอบส่วนต่างๆที่เป็นส่วนในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ให้ประสบกับความสำเร็จในการปรารถนาในสิ่งที่ตนเองต้องการเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความหวังถ้าทำสำเร็จก็จะมีกำลังใจมากขึ้น ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ก้าวหน้ายิ่งขึ้น[๑๐] บันดาลให้ให้เกิดพลังสร้างสรรค์และเป็นคุณอย่างมหาศาลต่อมวลมนุษย์[๑๑] เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจ หรือเจตนาและเป็นไปตามเจตจำนงและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองอย่างเป็นกระบวนการและจัดระบบแบบแผนไว้อย่างดี ก่อให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม  พัฒนาตนให้เป็นผู้สามารถนำชีวิตและสังคมไปสู่สันติสุข สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เข้าใจถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และการทำให้ชีวิตเกิดความเจริญได้นั้นต้องอาศัยกระบวนการในการศึกษาต่างๆมาสนับสนุนในการดำเนินชีวิต[๑๒] คนดีที่มีคุณภาพนั้น เป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรอบรู้ มีความเข้าใจ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์  มีความเพียร อดทน  มีวินัย นำคุณธรรมและความรู้ไปดำเนินการจนสามารถพึ่งพาตนเองได้[๑๓]  ดังนั้นจึงจะต้องนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์  มีความเพียร อดทน มีวินัย นำคุณธรรมและความรู้ไปพัฒนาตนเองทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ
              จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานของผู้นำ” เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระสมบูรณ์ที่ควรน้อมนำมาศึกษาทั้งโดยปริยัติและปฏิบัติอีก ผู้เขียนจึงได้เสนอหลักการและวิธีการใช้สัมมาวาจาในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อเป็นองค์ความรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าวาจาที่ดีมีคุณค่าสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติของคนในสังคม ประเทศชาติ แม้กระทั่งการมีสันติภาพของโลกโดยส่วนรวม และเมื่อศึกษาจนได้ข้อสรุปแล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อที่ผู้สนใจจะศึกษาค้นคว้าในโอกาส และ นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป

ความหมายของวาจา
              วาจา (วาจา วจ วิยตฺติยํ วาจายํ+อา) หมายถึง คำพูด มีคำที่เป็นไวพจน์ ได้แก่ ภาษิต ลปิต ภาสา โวหาร วจน คิรา วจี เป็นต้น มีวิเคราะห์ว่า วุจฺจตีติ วาจา คำอันเขาพูด (วจ ธาตุในความหมายว่าพูด ณ ปัจจัย อา อิตฺ., พฤทธิ์ อ เป็นอา) วุจฺจตีติ วจี คำที่บุคคลพูด ชื่อว่า วจี (ลบสระหน้า)[๑๔] วาจาเป็นทักษะในการสื่อสารประจำวันของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟังโดยเป็นองค์ประกอบในการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม วาจาจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้ตัวเราและบุคคลอื่นได้รู้เจตนาในความหมายนั้นๆ นักวิชาการได้ให้ความหมายไว้หลายนัย ดังนี้
              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า วาจา หมายถึง ถ้อยคำ คำกล่าว คำพูด ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง[๑๕] มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า word, words, speech[๑๖]
              พันเอกปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า วาจา หมายถึง การเจรจา คือการแสดงเจตนาของตนให้คนอื่นเข้าใจ,โดยตรงได้แก่ การพูด โดยทางอ้อมได้แก่ การแสดงออกแทนคำพูดทุกวิธี การบอกกล่าวด้วยอักษร เช่น การเขียนหนังสือ การทำเครื่องหมายด้วยภาพหรือด้วยแสงด้วยสี เป็นต้น[๑๗]
              ดวงใจ  ไทยอุบุญ  กล่าวว่า วาจาหรือการพูดเป็นทักษะอย่างหนึ่งในด้านการใช้ภาษา มีความสำคัญมากที่สุด เพราะสื่อความเข้าใจได้มากที่สุด วาจาหรือการพูดจึงมีความจำเป็นต่อพฤติกรรมประจำวันของมนุษย์[๑๘]
              พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า วจีกรรม หมายถึงการกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, ทำกรรมด้วยคำพูด วาจาที่เป็นคำจริง กล่าวแล้วไพเราะน่าฟัง มีเหตุผล มีสาระประโยชน์ ถูกกาลเทศะ ก่อให้เกิดความสุข สมานสามัคคี เรียกว่า วจีสุจริต ตรงข้ามกับวาจาที่ไม่ดีหรือวาจาชั่ว ที่เมื่อพูดแล้วมีแต่คำเท็จ โกหกหลอกลวง หยาบคาย หรือ  ไร้ประโยชน์ ก่อให้เกิดการแตกสามัคคี เกิดความเสื่อม หรือความเสียหาย นำบุคคลทั้งผู้พูดและผู้ฟังไปสู่ความทุกข์ วาจาเช่นเรานี้เรียกว่า วจีทุจริต[๑๙]
              จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า วาจาหรือการพูด คือ การถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง โดยอาศัยถ้อยคำและน้ำเสียง และอากัปกิริยาในการสื่อความหมายในลักษณะของวัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำเป็นคำพูดที่ตกลงร่วมกันใช้ในสังคมเพื่อสารระหว่างบุคคล ประสานประโยชน์ร่วมกันและเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และ อวัจนภาษา ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ เป็นการแสดงลักษณะของการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับบุคคลอื่น เช่น ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง หรือ สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจในสิ่งที่จะสื่อสารออกไป

ความหมายของสัมมาวาจา
              สัมมาวาจา หมายถึง การพูดความจริง พูดไพเราะอ่อนโยน พูดถูกต้องตามกาลสถานที่ พูดเป็นธรรม พูดออกไปแล้วไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน เป็นวาจาที่เมื่อกล่าวออกไปแล้วไม่ก่อให้เกิดโทษในภายหลัง คำพูดที่เป็นสัมมาวาจาจึงเป็นพื้นฐานธรรมะที่ควรมีในจิตใจ เพื่อเป็นหลักการประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ปราศจากโทษเพราะการไม่เบียดเบียนกันเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างจุดมุ่งหมายร่วมกัน เป็นวาจาที่เมื่อกล่าวออกไปแล้วไม่ก่อให้เกิดโทษในภายหลังดังปรากฏในสารัมภชาดกว่า “บุคคลควรพูดคำที่ดีงามเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ชั่วหยาบเลย การพูดคำที่ดีงามเป็นการดี  บุคคลย่อมเดือดร้อนเพราะพูดคำชั่วหยาบ”[๒๐]  สัมมาวาจาจึงเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์รักกัน ห่วงใยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่พอใจซึ่งกันและกัน เกลียดชังกัน และเป็นศัตรูกันได้
              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สัมมาวาจา หมายถึง การเจรจาชอบ คือ ประพฤติวจีสุจริต”[๒๑]
              พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ การเว้นจากทุจริต ๔ เว้นจากการพูดเท็จ รวมทั้งสัจจวาจา พูดความจริง เว้นการพูดส่อเสียด พูดคำสมานสามัคคี เว้นการคำพูดคำหยาบพูดคำอ่อนหวานสุภาพ และ เว้นการพูดเพ้อเจ้อ พูดคำมีประโยชน์[๒๒]
            สมเด็จพระญาณสังวร ( เจริญ สุวฑฺฒโน ) ได้ทรงให้ความหมายของสัมมาวาจาไว้โดยย่อว่า “สัมมาวาจา เจรจาชอบ หมายความว่าพูดจาถูกต้องหรือเมื่อไม่พูดก็นิ่ง เพราะเว้นเสียจากการพูดที่ผิดพลาดในที่นี้ได้แก่เว้นจากพูดมุสา เว้นจากพูดจาส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์”[๒๓]
              สรุปได้ว่า สัมมาวาจา หมายถึง วาจาโดยชอบ วาจาดี ถูกต้อง สมบูรณ์ อันเป็นวาจาที่นำไปสู่ประโยชน์สุขทั้งกับผู้พูดและผู้ฟัง การพูดที่ถูกต้องนั้น ได้แก่ การไม่พูดเท็จไม่พูดใส่ร้ายผู้ใด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ ถ้าผู้ใดเว้นจากการพูดเหล่านั้นเสียได้ ผู้นั้นย่อมเป็นคนที่มีวาจาเหมาะสม เป็นที่เชื่อถือได้ของมหาชนทั้งปวงและจิตใจของคนผู้พูดอย่างถูกต้องเช่นนั้นก็ย่อมสงบเย็นและมั่นคง เป็นที่ตั้งของความถูกต้องแห่งการกระทำทั้งปวงและเป็นการแสดงออกทางวาจาด้วยความรู้ความเข้าใจถึงความถูกต้องของการพูดที่ได้ใคร่ครวญพิจารณาอย่างรอบคอบดีแล้ว อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้พูดได้พัฒนาตนเองไปสู่ทางสายกลางเพื่อไปถึงจุดสูงสุดและถึงพร้อมในอริยมรรคอันเป็นทางหลุดพ้นอันประเสริฐ ประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข 

การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานงานของผู้นำ 
             คุณธรรมและจริยธรรม ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ ที่ทำให้ได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือตลอดจนการนับถือจากบุคคลต่างๆ ทั้งในองค์การและสังคมทั่วๆไป การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล องค์การ หรือประเทศ หรือการจัดการเพื่อผลกำไรของทุกคนในองค์การ[๒๔] ผู้บริหารเชิงพุทธต้องมีภาวะผู้นำ คือ มีความสามารถในการจูงใจคนให้เกิดความต้องการอยากปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารและมีน้ำใจในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมและองค์กรของตน[๒๕]ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์[๒๖] นอกจากนี้ยังจะต้องมีศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น ในงานวิจัยนี้จึงมุ่งจะกล่าวถึงการนำหลักสัมมาวาจามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆของบุคคล เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดผลดีในทุกๆ ด้าน ดังนี้                    
การประยุกต์ใช้ด้านการปกครองประเทศ 
                  วาจามีความสำคัญในด้านในการบริหารประเทศ การแถลงนโยบาย การอภิปรายในรัฐสภา  การพูดในสถานการณ์เช่นนี้  มีผลกระทบต่อผู้คนโดยภาพรวม เพราะมีจุดประสงค์ในการพูดที่ชัดเจน เป็นการพูดเพื่อความเข้าใจของคนในชาติและการอยู่ร่วมกันของชนในชาติอย่างสงบสุข  ผู้นำนั้นมีอยู่หลายแบบ การเป็นผู้นำต้องมีการหล่อหลอม ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นผู้ปกครองหรือผู้บริหารในระดับองค์กร ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทำให้ประเทศชาติเจริญได้ ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญแก่ผู้นำว่า ต้องเป็นคนฉลาดมีพลัง ไม่อ่อนโยนเกินไป ไม่แข็งกร้าวเกินไป ประพฤติตนเป็นกลาง คือ ใครทำดีต้องให้รางวัล ใครทำชั่วต้องลงโทษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” แปลว่า กำราบคนที่ควรกำราบ ยกย่องคนที่ควรยกย่อง[๒๗] การบริหารเช่นนี้ จึงได้ทั้งคนและงานจึงจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ และจะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หมู่คณะ ด้วยการดำรงมั่นในสุจริต รักษาศีล ๕ หลีกเว้นจากอบายมุขเป็นต้น จึงจะถือว่าเป็นนักบริหารที่ดีได้ เนื่องจากการใช้วาจาเป็นสื่อสำคัญในการชักจูงโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังจึงจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบอื่นมาเกื้อหนุน ดังนี้
                   ผู้นำที่ดีต้องมีปิยวาจา
              ปิยวาจา คือ มีวาจาเป็นที่รัก สร้างสรรค์ให้เกิดความกลมเกลียว ความรัก และสามัคคีให้เกิดขึ้น การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เนื่องจากวาทะของผู้นำ ย่อมสมานไมตรีต่อบุคคล ในองค์กรต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ และมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงาน สามารถพัฒนาตนเองและปฏิบัติตนไปสู่ความเจริญ สู่เป้าหมายที่วางไว้ พร้อมที่จะตั้งใจทำงาน ไม่ท้อถอย และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุจริตใจ บริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบได้ เมื่อพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น  ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมต่อทุกคนโดยเสมอภาคไม่เห็นแก่พรรคพวกเพื่อนพ้อง ย่อมทำให้เกิดความศรัทธา เชื่อฟัง และความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และทำให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมคือประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ
สามารถสรุปได้ว่า ผู้นำจะต้องระวังมิใช้วาจาเท็จ อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายคลายความเชื่อถือ ไม่ใช้วาจายุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าว หรือระหองระแหงกัน ควรหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงใครในแง่ร้าย ให้กล่าวถึงเรื่องที่ไม่พาดถึงบุคคลในทางที่จะทำให้เขาเสียหาย พูดในทางที่จะเกิดความรู้ ไม่กล่าววาจาหยาบคายเสียดสีดูถูก จะทำให้ขัดเคืองกันและเป็นการน่าละอาย ต้องพยายามใช้คำพูดที่เหมาะสมที่ควร การพูดวาจาไพเราะย่อมเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้ได้ยินได้ฟังมาก ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองให้เป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย ผู้ร่วมงาน หรือ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีกำลังใจในการปฏิบัติงาน ทำงานด้วยความสุข มีกัลยาณมิตร และ ตั้งใจทำงาน ก่อให้เกิดความมั่นคงในองค์กรตลอดไป
 การประสานความขัดแย้ง
     ความขัดแย้งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “conflict” มาจากภาษาละตินว่า “confligere” แปลว่า การต่อสู้ (fight) การทำสงคราม (warfare) ความไม่ลงรอย ความเข้ากันไม่ได้(incompatibility) การขัดกันซึ่งกันและกัน การเป็นปรปักษ์ (opposition) หมายความว่า การที่บุคคลสองคนหรือกลุ่มบุคคลมีความเห็น ความเชื่อ ความต้องการต่างกัน การโต้แย้ง การโต้เถียง การดิ้นรน การต่อสู้ และการแข่งขันกัน[๒๘] ความหมายของความขัดแย้งดังกล่าว ในที่นี้ จึงหมายถึงการใช้วาจาที่มีการโต้แย้ง การโต้เถียงกันระหว่างบุคคลสองคนหรือกลุ่มบุคคลสองฝ่ายที่มีความเห็น ความเชื่อ ความต้องการทางผลประโยชน์ต่างกัน อันอาจนำมาซึ่งความไม่พอใจ ความเกลียดชัง การด่าทอ การใช้คำหยาบ คำเสียดสี จนกลายเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง เช่น การกระทบกระทั่ง การทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน กระทั่งการเกิดจลาจลนองเลือด ทั้งนี้ก็เนื่องจากการใช้วาจา 
     ในยามที่บ้านเมืองเกิดการขัดแย้งกัน วาจาของผู้นำจะเป็นสิ่งชักจูงผู้คนให้มีการประสานประโยชน์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในระหว่างนั้นให้พ้นจากวิกฤตไปได้ หรือในสภาวะที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้น ผู้นำควรต้องระมัดระวังวาจามากขึ้น คำพูดเพียงคำเดียวอาจก่อให้เกิดจลาจล สงครามระหว่างประเทศ หรืออาจทำให้วิกฤตกลายเป็นโอกาสสามารถเชื่อมความรักความสามัคคีของคนในชาติให้กลมเกลียวยิ่งขึ้นได้  เมื่ออยู่ในภาวะปกติ ผู้นำต้องเป็นผู้ประสานทั้งคน และประโยชน์  มีความสามารถในการจูงใจให้เกิดความพร้อมเพรียง ร่วมแรงร่วมใจกัน มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน สร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมคือประเทศชาติ ซึ่งหากผู้ปกครองมีธรรมะหรือคุณธรรมในการปกครองมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้ความศรัทธาเกิดเพิ่มมากยิ่งขึ้น และประพฤติปฏิบัติตามผู้นำมากเท่านั้น ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบผู้นำเป็นเสมือนโคจ่าฝูงว่า
         เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปคด โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปคดตามกัน  เพราะมีผู้นำไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ใด ได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นมีความประพฤติ ไม่เป็นธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะพลอยประพฤติซ้ำเสียหาย แว่นแคว้นทั้งหมดก็จะยากเข็ญ หากผู้ปกครองเป็นผู้ไร้ธรรม
          เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงตามกัน เพราะมีผู้นำที่ ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติ ชอบธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะพลอยดำเนินตาม ทั้งแว่นแคว้นก็จะอยู่เป็นสุข หากผู้ปกครอง ตั้งอยู่ในธรรม[๒๙]
                 พุทธพจน์นี้  แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้นำที่มีต่อความอยู่รอด และสวัสดิภาพขององค์กร  ทำให้องค์การและการดำเนินชีวิตของกลุ่มบุคคลในสังคมองค์กรนั้นมีการพัฒนาที่ยั่งยืน  และเกิดความสงบสุข และมีความยั่งยืน  และเกิดความสงบสันติสุข ในสังคมและประเทศชาติ โดยผู้นำจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมทีดี หากผู้นำขาดซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว ย่อมทำให้ผู้นั้นขาดความชอบธรรมในการทำหน้าที่ผู้นำในองค์กรนั้นต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากคุณธรรมและจริยธรรม ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ ที่ทำให้ได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือตลอดจนการนับถือจากบุคคลต่างๆ ทั้งในองค์การและสังคมทั่วๆไป ผู้นำจึงต้องรู้จักหน้าที่ในการปกครองคน ถ้าอ่อนโยนเกินไปอาจจะถูกดูหมิ่น แข็งกร้าวเกินไปอาจจะมีศัตรู จึงควรวางตนเป็นกลาง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ประพฤติตัวให้เหมาะสม รู้ใจผู้น้อยเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับคำที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) กล่าวไว้ว่า
การปกครองจะเรียบร้อยต้องมีอุบายอันแยบคายในการปกครอง ๕ ประการ คือ
      ๑. หน้าที่ปกครองคน คือผู้ปกครองคนอื่นพึงตั้งตนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ปราศจากอคติ มีความเที่ยงธรรมเป็นหลักใจ มีพรหมวิหารเป็นพื้นอัธยาศัย เมื่อจะทำกิจการอันใดให้ความเสมอภาคในระหว่างผู้น้อย อ่อนโยนต่อผู้น้อยหรือผู้เสมอกัน รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ถือเขาถือเรา อันเป็นเหตุทะนง ไม่ใช้อำนาจเอะอะตึงตังดุร้าย ใช้อุบายละมุนละม่อมให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเคารพรักใคร่
     ๒. เอาใจเขามาใส่ใจเรา คือคิดถึงอกเขาอกเรา ไม่เห็นแก่ลาภสักการะที่ได้ด้วยความเดือดร้อนของผู้น้อย ไม่ปัดความผิดที่ตนทำไปให้ผู้น้อย ไม่ขัดขวางตัดรอนและทำลายประโยชน์สุขของเขา ไม่ทำการใด ๆ โดยเห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย
    ๓. ทำความประนีประนอมในระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย คือรู้จักโน้มน้าวจิตใจของผู้ร่วมงาน ทั้งในวงงานราชการและงานการอื่น ๆ ตลอดถึงเครือญาติและชาวบ้านร้านตลาด ไม่ให้แตกร้าวและบาดหมางกัน รู้จักถนอมนำใจเขา ไม่เอาแต่ใจตน เป็นคนใจหนักแน่น ไม่หูเบาใจเบาสมองเบาและใจเร็วโกรธง่าย
    ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสม คือรู้จักวางตนให้เข้าคนเป็นหรือเข้าถึงคน และปฏิบัติการต่อผู้ใหญ่ผู้น้อยและผู้เสมอกัน ตลอดถึงเครือญาติคนใช้มิตรสหายและเพื่อนบ้านว่าใครควรจะสนิทชิดเชื้อหรือควรห่าง และใครควรบังคับบัญชาสั่งการหรือไหว้วานในกิจการอย่างไร ก็ให้สมควรแก่ภูมิชั้นของบุคคลนั้นๆ
    ๕. รู้จักรักษาใจผู้น้อย เช่นแสดงความรักเมตตาปรานีแก่ผู้น้อย ด้วยให้ปันสิ่งของ พูดจาปราศัยด้วยอัธยาศัยไมตรี มีสีหน้ายิ้มแย้มแช่มชื่น ให้เป็นที่เบิกบานใจแก่เขา ไม่ทำปั้นปึ่งหรือไว้อำนาจ ไม่มีอาการฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดบำรุงน้ำใจเขาให้มีกำลัง พอให้เขามีฉันทะตั้งหน้าทำงานตามหน้าที่โดยเต็มใจและหวังดี ซื่อตรงต่อหน้าที่จริงๆ[๓๐]
             ดังนั้น การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำ ย่อมทำให้ผู้นำไม่เป็นที่ยอมรับต่อบุคคลทั่วไป ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อหลักการบริหารงานและภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย จากลักษณะดังกล่าว ผู้นำจะต้องฉลาดใช้อำนาจในการปกครองและมีกำลังภายในคือคุณธรรมและกำลังภายนอกคือการเอาชนะใจผู้อยู่ใต้การปกครองจึงจะถือว่าเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดี การนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจนั้น  ผู้นำประเทศจำเป็นต้องมีจิตใจที่ประกอบด้วยหลักธรรมในการปฏิบัติตนเพื่อเป็นตัวอย่าง อันเป็นการปกครองด้วยความมีใจที่เป็นธรรมต่อผู้ร่วมงาน และประชาชน จึงจะทำให้ทุกคนอยู่ดี มีสุข และทำให้ประเทศชาติก้าวไปสู่เป้าหมายคือความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมได้ในที่สุด
 ในทางการทูต การต่างประเทศ 
              เอกอัครราชทูตอยู่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศ  วาจาของทูต  มีความสำคัญต่ออธิปไตยและต่อความอยู่รอดของประเทศชาติ  นักการทูตที่ดี ย่อมใช้สัมมาวาจาเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศได้  รวมไปถึงการใช้วาจาเพื่อสร้างสัมพันธไมตรี ความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ กฎหมาย เทคโนโลยี วัฒนธรรม ภาษาและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ เพื่อสร้างกฎระเบียบ แนวทางให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสมบูรณ์พูนสุข และมีสันติภาพ  หรือเพื่อป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ด้วยกัน การเจรจาด้วยความเข้าใจ และเป็นมิตรต่อกัน ทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคง และก่อให้เกิดความสงบสุข ทั้งยังเป็นการเอื้อเฟื้อกับประเทศที่ด้อยโอกาส อีกทั้งเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติของตนทั้งในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก
                  สรุปได้ว่า สัมมาวาจาตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นคือการมีวาจาสุจริต เป็นวาจาจริง  ไพเราะ และประกอบด้วยประโยชน์ ทำให้การดำเนินชีวิตเกิดประโยชน์ เพราะไม่เบียดเบียนผู้อื่น  นอกจากนี้สัมมาวาจายังให้ผลที่เกื้อกูลต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ ในด้านสังคม การนำหลักสัมมาวาจามาใช้ในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง  ด้านการประกอบอาชีพ หรือแม้แต่การพัฒนาในทุกรูปแบบ ย่อมทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเท่ากับได้วางรากฐานทางจริยธรรมไว้ให้แก่สังคม  และสร้างสรรค์ให้ขยายวงกว้างออกไปเพื่อประโยชน์สุขกับส่วนรวม  ในการนำหลักสัมมาวาจามาใช้กับสังคมส่วนรวมนั้น  ผู้นำประเทศหรือผู้มีอำนาจในการปกครองได้แก่รัฐบาลหรือผู้แทนประชาชนควรเป็นตัวอย่างการประพฤติปฏิบัติในการใช้วาจาที่ถูกต้อง เป็นจริง ไม่กล่าวเท็จ ไม่หลอกลวง ไม่หาเสียงด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานาเพื่อให้ตนได้เข้ามามีอำนาจ ควรมีความจริงใจซึ่งกันและกัน จริงใจต่อประชาชน ไม่ใส่ร้ายป้ายสี  พูดจาว่าร้ายกัน รัฐบาลควรมีนโยบายที่ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ บริหารราชการบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่คอรัปชั่น และส่งเสริมคนดีให้มีโอกาสทำงานได้อย่างเต็มที่  เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่น อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้ประเทศชาติและสังคมได้ยกระดับการพัฒนา และนำความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขมาสู่สังคมต่อไป




[๑] วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๔/๒๒.
[๒] พระสมชาย  ปโยโค (ดำเนิน), “การประยุกต์ใช้สัมมาวาจาเพื่อการบริหารงานของผู้นำ”, ใน พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ, พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส บรรณาธิการ, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี่ จำกัด, ๒๕๕๔) : ๔.
[๓] อ้างใน เทพ สุนทรศารทูล, เพลงยาวนิราศสุนทรภู่, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๙๔.
[๔] ขุ.สุ. (ไทย)  ๒๕/๔๕๕/๖๐๓.
[๕] ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (ไทย) ๒/๑๓/๒๐๐-๒๐๑., ขุ.ชา. (ไทย)  ๒๗/๒๘/๑๒.
[๖] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๙๙/๒๖๙.
[๗] Damien Keown, A Dictionary of Buddhism, (New York : Oxford University Press, 2003), p.86.   
[๘] Subhadr Panyadeep, “Buddhist Ethics and Trends in Education”, in Buddhist & Ethics Symposium Volume, ed. by Dion Peoples, (Bangkok : MCU Press, 2008) : 157.
[๙] อ้างในกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรม, (กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, ๒๕๕๒), หน้า ๖๐.
[๑๐] พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), “ความสำเร็จแห่งชีวิต”, พุทธจักร, ปีที่ ๖๔ ฉบับที่ ๘ (สิงหาคม ๒๕๕๓) : ๖.
[๑๑] กีรติ บุญเจือ, “ศาสนศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์”, บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์, ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๒) : ๒๑.   
[๑๒] พระสมชาย ปโยโค (ดำเนิน), “ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจ ๔ ของเยาวชน : ศึกษาเฉพาะกรณีเยาวชนในโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๒), หน้า ๔.
[๑๓] สรรเสริญ   วงศ์ชอุ่ม, แนวคิดการพัฒนาประเทศ, (กรุงเทพมหานคร : เพชรรุ่งการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๑๒.
[๑๔] พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), ศัพท์วิเคราะห์, พิมพ์ครั้งที่ ๒,  ( กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐), หน้า  ๕๗๙., พระมหาสมปอง  มุทิโต (ผู้แปลและเรียบเรียง), คัมภีร์อภิธานวรรณนา, พิมพ์ครั้งที่ ๒,  ( กรุงเทพมหานคร : ประยูรวงศ์พริ้นติ้ง, ๒๕๔๗), หน้า  ๑๖๐-๑๖๓.
[๑๕] ราชบัณฑิต, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๖,
 (กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๓๙), หน้า  ๗๖๑.
[๑๖] ดำเนิน การเด่น และ เสถียรพงษ์ วรรณปก, พจนานุกรมไทยอังกฤษ ฉบับปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๒,(กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๓), หน้า ๔๖๒.
[๑๗] ปิ่น มุทุกันต์, แนวสอนธรรมะตามหลักสูตรนักธรรมตรีพิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า ๑๓๐ – ๑๓๑.
[๑๘] ดวงใจ  ไทยอุบุญ, ภาษาไทย , (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๓๕.
[๑๙] พระธรรมปิฏก ( ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, ( กรุงเทพมหานคร : เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๒๑๙-๒๒๐.
[๒๐] ขุ.ชา. (ไทย)๒๗/๘๘/๓๐.
[๒๑] ราชบัณฑิต, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕, หน้า ๘๒๕.
[๒๒] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ , พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙), หน้า ๗๖๘-๗๖๙. 
[๒๓] สมเด็จพระญาณสังวร ( เจริญ สุวฑฺฒโน ), หลักพระพุทธศาสนาพิมพ์ครั้งที่ ๑๐(กาญจนบุรี : สหายพัฒนาการพิมพ์, ๒๕๔๒), หน้า ๕๔๙-๕๕๐.
[๒๔] บุญทัน ดอกไธสง, การจัดองค์การ, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗), หน้า ๑.
[๒๕] ดูรายละเอียดใน พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต), พุทธวิธีบริหาร, หน้า  ๓, ๑๖.
[๒๖] Herbert A. Simon, Administrative Behavior, 4th ed., (New york : The Free Press, 1997), p. 3.
[๒๗] ขุ.ชา.จตฺตาลีส. (ไทย) ๒๗/๑๙/๕๙๗.
 [๒๘] Reymond W. Mack and John Peace, Sociology and Social Life, (New York : D Van Nostrand Company, 1973), p. 68.
 [๒๙] ขุ.ชา.จตุกฺก. (ไทย) ๒๗/๑๓๕/๑๘๔.
[๓๐] สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร), บทสร้างนิสัยผู้ดี, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๒๐-๒๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น