พุทธจริยศาสตร์กับประเด็นจริยธรรมเรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน หรือการอยู่ก่อนแต่งในสังคมไทยปัจจุบัน



พุทธจริยศาสตร์กับประเด็นจริยธรรมเรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน หรือการอยู่ก่อนแต่งในสังคมไทยปัจจุบัน


สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ

๕.๑ สรุปผลการวิจัย

จากการศึกษาเรื่อง “พุทธจริยศาสตร์กับประเด็นจริยธรรมเรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน หรือการอยู่ก่อนแต่งในสังคมไทยปัจจุบัน (Buddhist Ethics Related to Ethical Issue : Cohabitation in Thai Society at the Present Time) สามารถสรุปผลการวิจัยได้ว่า


๕.๑.๑ การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน (สมรส) หมายถึง การอยู่ร่วมกัน หรือใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร หรือทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย รวมทั้งการมีความสัมพันธ์ทางเพศ หรือเพศสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองอยู่ด้วยกันเพื่อเลือกคู่ครอง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อทดแทนปรากฏการณ์ดั้งเดิมของสังคม คือ “การแต่งก่อนอยู่” หรือ “การแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณี” ที่ทำให้คู่แต่งงานไม่มีโอกาสได้ศึกษาหรือปรับความเข้าใจ ทำความคุ้นเคยกันก่อนแต่งงาน การอยู่ก่อนแต่งจึงช่วยให้ชาย-หญิงได้ทดลองอยู่ด้วยกัน ทำหน้าที่เสมือนเป็นสามีภรรยาชั่วคราว เพื่อศึกษาและปรับตัวด้านต่างๆ เช่น อุปนิสัย เพศรส เป็นต้น ก่อนที่จะแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณี ส่วน“การแต่งงานตามประเพณี” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “การแต่งก่อนอยู่” นั้น ในสังคมไทยถือว่า “การแต่งงาน” หรือ “การสมรส” ตามประเพณี หมายถึง พันธสัญญาที่หญิง-ชายตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน จะช่วยกันสร้างเสริมหลักฐานของครอบครัวใหม่ให้มั่นคง และมีบุตรธิดาสืบวงศ์ตระกูลต่อไป นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน“การแต่งงาน” มีคุณค่าและความสำคัญต่อสังคมมนุษย์ ๖ ประการ คือ (๑) เป็นการที่ชายหญิงแสดงตนให้สังคมได้รับรู้ว่า จะอยู่ร่วมกันโดยปฏิบัติตามวิธีการของกฎหมาย และขนบธรรมเนียมประเพณีในสังคม (๒) เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจอันดีงามของมนุษย์ (๓) เป็นการแสดงถึงความพร้อม ความมีเกียรติ และศักดิ์ศรีของคู่บ่าวสาว (๔) เป็นหลักประกันความมั่นคงแห่งสถาบันครอบครัวใหม่ที่จะเกิดขึ้น (๕) เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์ (๖) เป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมความเป็นมนุษย์ (ผู้มีใจสูงส่ง) ให้คงอยู่และสมบูรณ์ (๗) เป็นการแสดงออกถึงความรักระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นรูปธรรมใน ๓ มิติ คือ มิติแห่งสังคม มิติแห่งพฤตินัย และมิติแห่งนิตินัย

เมื่อการแต่งงานมีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคมเช่นนี้ ทำให้ปรากฏการณ์การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน หรือการอยู่ก่อนแต่ง มีลักษณะที่ขัดแย้งกับการแต่งงาน หรือการสมรสตามธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย ก่อให้เกิดทรรศนะหรือแนวความคิดเกี่ยวกับปรากฏการณ์การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมไทยเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มคนที่เห็นด้วย หรือเห็นว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม กลุ่มที่ ๒ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือเห็นว่าไม่สมควร และกลุ่มที่ ๓ กลุ่มที่เป็นกลาง หรือเฉยๆ โดยที่ทรรศนะต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะเป็นแบบมาตรฐานซ้อนหรือมาตรฐานสองเชิง (double standard) ที่ถือว่า เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (สมรส) หรือการทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เฉพาะสำหรับในเพศชายเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ผิดและยอมรับไม่ได้สำหรับในเพศหญิง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงก่อให้เกิดประเด็นทางจริยธรรมขึ้นว่า พฤติกรรมการทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมไทยสมควรหรือไม่ พระพุทธศาสนามีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

๕.๑.๒ หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ได้แก่ หลักคำสอนว่าด้วยความรัก เพศสัมพันธ์ และการแต่งงาน หรือการมีครอบครัว กล่าวคือ

ในเรื่องความรัก พระพุทธศาสนาสอนผ่านหลักธรรมต่างๆ แบ่งได้เป็น ๔ ประเภท เรียงตามระดับความหยาบ (ระดับต่ำ) ไปสู่ระดับที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น (ระดับสูง) ได้แก่ (๑) สิเนหะ ความใคร่ (๒) เปมะ หรือเคหสิตเปมะ ความรักของผู้ครองเรือน (๓) เมตตา ความรักบริสุทธิ์ (๔) ฉันทะ ความรักดี ใฝ่ดี ดังนั้น การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานจัดเป็นความรักระดับที่ ๒ คือ เปมะ ความรักที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเข้ามาควบคุมความใคร่ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นความรักที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในครอบครัว

ในเรื่องเพศสัมพันธ์หรือการร่วมเพศ พระพุทธศาสนาเรียกว่า “เมถุน” หรือ “เมถุน-ธรรม” โดยเรียกกิริยานี้ว่า “การเสพเมถุน” สำหรับบรรพชิตหรือนักบวชในทางพระพุทธศาสนาถือว่า เพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต่ำทราม แต่สำหรับชาวบ้านเป็นธรรมเนียมของผู้ครองเรือนทั่วๆ ไป ในด้านคุณค่าหรือความสำคัญถือว่า เพศสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สามีภรรยามีบุตรธิดาเพื่อสืบสกุล จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นกิจกรรมเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ หรือเพื่อความต้องการบุตรธิดาสืบสกุลตนเอง มิใช่เพื่อความสนุกสนาน แต่เป็นไปเพื่อคุณธรรมจริยธรรม

ส่วนการสมรสนั้น พระพุทธศาสนามิได้หมายถึง พิธีการ หรือพิธีกรรมในทางสังคมแต่อย่างใด แต่หมายถึง คุณสมบัติ คุณธรรม หรือหน้าที่ของชายหนุ่มหญิงสาว ที่ตกลงปลงใจกันสร้างครอบครัวร่วมกันขึ้น เป็นสามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรธิดา คุณธรรมเหล่านี้ เช่น สมชีวิ-ธรรม ๔ สังคหวัตถุ ๔ ฆราวาสธรรม ๔ พรหมวิหาร ๔ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้กำหนดหน้าที่ของบุคคลในครอบครัวที่จะพึงปฏิบัติต่อกันอีก เช่น หน้าที่ของบิดามารดา หน้าที่ของบุตรธิดา หรือหน้าที่ของสามีภรรยา เป็นต้น

๕.๑.๓ หลักพุทธจริยศาสตร์ที่นำมาพิจารณาประเด็นว่าด้วย “การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน”นั้น มีสารสำคัญเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องความรัก เพศสัมพันธ์ และการแต่งงาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนาหลายๆ ด้าน ได้แก่ จริยธรรมส่วนบุคคล จริยธรรมครอบครัวว่าด้วยเรื่องสามี-ภรรยา และบุตรธิดา-บิดามารดา และจริยธรรมสังคมไทย คือ จารีตประเพณีวัฒนธรรมของสังคมไทย ดังนั้น ในการพิจารณาจะต้องมองในทุกมิติของระบบจริยธรรม โดยในขั้นแรกจะพิจารณาตามหลักเบญจศีล-เบญจธรรม ซึ่งเป็นจริยธรรมส่วนบุคคลและจริยธรรมครอบครัวว่าด้วยสามีภรรยา และในขั้นต่อไปจะพิจารณาตามหลักจริยธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จริยธรรมของบุตรธิดา เป็นต้น

ประการแรก เมื่อพิจารณาตามหลักเบญจศีล-เบญจธรรมในบริบทของสังคมไทยสมัยใหม่แล้ว พบว่า ในกรณีที่ชายหญิงโสดคู่นั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ถือว่าทั้งสองฝ่ายผิดหลักเบญจศีล-เบญจธรรม หรือเป็นกาเมสุมิจฉาจาร แต่ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุนิติภาวะแล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายไม่ผิดหลักเบญจศีล-เบญจธรรม

ประการต่อมา พิจารณาในแง่จริยธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในด้านคุณธรรมของบุตรธิดาที่พึงมีต่อบิดามารดา คือ มีความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน โดยจะต้องอยู่ในโอวาทและไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้ท่านเสียใจ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งจึงถือว่าเป็นการละเมิดคุณธรรมข้อนี้ นอกจากนี้ในด้านจริยธรรมของบุตรธิดา หรือพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมของบุตรธิดาที่จะพึงปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความกตัญญูกตเวทีนั้น ถือว่า บุตรธิดาละเมิดจริยธรรมนี้ ๓ ประการด้วยกัน คือ (๑) ถือว่า ไม่ได้เลี้ยงดูท่านทางจิตใจ เพราะการอยู่ก่อนแต่งเป็นการทำลายน้ำใจท่าน ทำให้ท่านเป็นทุกข์ (๒) ถือว่าไม่ดำรงวงศ์ตระกูล เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง (๓) ถือว่า ประพฤติตนไม่เหมาะสมที่เป็นทายาท

ในด้านจริยธรรมสังคม ถือว่า การอยู่ก่อนแต่งเป็นการฝืนจารีต หรือกฏเกณฑ์ของสังคม ถึงแม้ในเรื่องความรัก เพศสัมพันธ์ และการแต่งงานพุทธจริยศาสตร์ให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อกันมากกว่ากฏจารีตประเพณีก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ถือว่า กฏเกณฑ์เหล่านี้ทำให้สังคมสงบสุข เป็นกฏเกณฑ์ที่ดีงามของสังคม หากละเมิดก็จะก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ทำให้ครอบครัวและสังคมเดือดร้อน เพราะสังคมและครอบครัวยังยึดมั่นในกฏเกณฑ์เหล่านี้ และที่สำคัญบิดามารดาและสังคมย่อมหวังให้บุตรธิดาของตนมีครอบครัวที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์มากกว่าการฝืนกฏเกณฑ์ นอกจากนี้ในแง่ของการกระทำเอง คือ เพศสัมพันธ์ ที่ไม่ถูกต้องดีงามย่อมก่อให้เกิดโทษต่างๆ ได้ เช่น การตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ประการสุดท้าย ถึงแม้ตามหลักเบญจศีล-เบญจธรรมจะไม่ผิด แต่ในแง่จริยธรรมอื่นๆ เช่น คุณธรรมและจริยธรรมของบุตรธิดา ตลอดจนจริยธรรมสังคมถือว่า “ไม่ควร” ถึงกระนั้น แม้ยังต้องเลือกอยู่ก่อนแต่ง พุทธจริยศาสตร์ก็มีทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้ เป็นทางออกที่ยอมรับได้ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ กล่าวคือ ทางออกที่สมควรกระทำมากที่สุด คือ เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วควรแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณีต่อไป หากกระทำได้ดังนี้ ก็ถือว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และควรให้อภัยในการกระทำที่แล้วมา (ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาภายในครอบครัวและระหว่างครอบครัวทั้งสองฝ่ายได้) แต่หากเลือกที่จะไม่ยอมทำตามธรรมเนียมประเพณีใดๆ แม้แต่การแต่งงาน หรือการจดทะเบียนสมรส แต่อยู่ด้วยกันเป็นสามีภรรยาเฉยๆ ก็ถือว่า น่าจะเป็นสิ่งที่พอจะยอมรับได้ แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่า ทั้งสองคนพร้อมที่จะยอมรับกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาจากคนในสังคม ญาติพี่น้อง บิดามารดา รวมทั้งด้านกฏหมาย และที่สำคัญอาจจะมีผลไปถึงบุตรธิดาของตนอีกด้วย ส่วนการอยู่ด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์กัน เพื่อความสนุกสนาน หรือความสุขแก่ชีวิตชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็เลิกราไป หรืออยู่ด้วยกันแล้ว แต่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้สักที หากต้องประพฤติตนอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนใจง่าย สำส่อน อาจต้องติดโรคทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ได้ และคนเช่นนี้พุทธจริยศาสตร์เรียกว่า“นักเลงชาย” (ผู้หญิงเจ้าชู้) หรือ “นักเลงหญิง” (ผู้ชายเจ้าชู้) ถือว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม ความฉิบหายของตนและครอบครัว (ตามหลักอบายมุข) จึงถือว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

๕.๒ ข้อเสนอแนะ

การศึกษาเรื่อง “พุทธจริยศาสตร์กับประเด็นจริยธรรมเรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมไทยปัจจุบัน (Buddhist Ethics Related to Ethical Issue: Cohabitation in Thai Society at the Present Time) จะเห็นว่า แม้พฤติการณ์ดังกล่าวจะไม่ผิดเบญจศีล-เบญจธรรม แต่ในแง่คุณธรรมความดีงามของตนเองและสังคมถือว่าไม่ถูกต้อง เมื่อกล่าวโดยภาพรวมในแง่คุณธรรมและจริยธรรมนั้นพระพุทธศาสนามองทุกด้านทุกแง่มุม ไม่ว่าในด้านดี ด้านเสีย ตลอดจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับความเป็นจริงในสังคมว่า พฤติกรรมนี้เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมากในสังคมไทยปัจจุบัน และนับวันยิ่งจะได้รับการยอมรับจากเยาวชนคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น การที่พฤติกรรมนี้ไม่ผิดเบญจศีล-เบญจธรรมนั้นถือว่า พระพุทธศาสนาให้อิสระเสรีในการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำ โดยเปิดโอกาสให้บุคคลได้เลือกทางเดินของตนเองอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถและกำลังสติปัญญา โดยพิจารณาข้อดี ข้อเสีย และทางออกให้กับตนเอง ที่มีผลกระทบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมน้อยที่สุด ถึงกระนั้น หากเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องยึดหลักพระพุทธศาสนาในการพิจารณา โดยเฉพาะหลักเบญจศีล-เบญจธรรม และหลักคุณธรรมจริยธรรมอื่นๆ ประกอบการพิจารณา แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกหนทางใดก็ตาม จะเป็นการเลือก “อยู่ก่อนแต่ง” หรือ “แต่งก่อนอยู่” ก็ตาม มีข้อแนะนำดังนี้

๕.๒.๑ ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตน

(๑) ควรพิจารณาถึงความพร้อมของตนเองและผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของตนในด้านต่างๆ ว่าพร้อมหรือไม่ ความพร้อมเหล่านี้รวมเรียกว่า “วุฒิภาวะ” คือ ความเจริญ ความเป็นผู้ใหญ่ ความพร้อมที่จะรับผิดชอบครอบครัว ได้แก่

· อยู่ในวัยที่เหมาะสมจะมีครอบครัว ที่เรียกว่ามี “วัยวุฒิ” เป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว ไม่ใช่อยู่ในวัยเด็กและวัยศึกษา เป็นต้น หรืออย่างน้อยจะต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ คือ มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปี เป็นต้นไป พ้นจากวัยศึกษา กำลังอยู่ในวัยทำงาน

· มีความพร้อมทั้งด้านสังคมและเศรษฐิจ คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้รวมเรียกว่า “คุณวุฒิ” เช่น มีความพร้อมในด้านการศึกษา คือ จบการศึกษาแล้ว หรือไม่ได้เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น มีความพร้อมในด้านการงาน คือ มีการงานที่มั่นคงแน่นอน หรือมีงานทำ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้

· มีทัศนะที่ดีในชีวิตครอบครัว มีความจริงจัง และจริงใจที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา และพร้อมที่จะปรับทัศนคติและปรับตัวเข้าหากัน

· มีคุณธรรมและความรับผิดชอบ ซึ่งจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากกว่าอย่างอื่น

คุณสมบัติเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเลือกวิถีใดก็ตามหากมีความพร้อมในด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิเหล่านี้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดความมั่นใจและความมั่งคงในการเลือก แม้จะเลือกปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีโดยการแต่งงาน ก็จะทำให้ชีวิตคู่มีความสุขและมั่นคงได้ หากเลือกในทางตรงกันข้ามคือ เลือกอยู่ก่อนแต่ง ก็จะทำให้ชีวิตคู่มั่นคง เพราะทั้ง ๒ ฝ่ายมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาได้ แต่หากขาดคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ก็จะไม่สามารถประคองชีวิตครอบครัวให้มั่นคงได้ แม้จะเลือกการแต่งงานตามประเพณี หรือการอยู่ก่อนแต่งก็ตาม

(๒) รู้จักยับยั้งชั่งใจ หรือรู้จักควบคุมตนเอง ให้กระทำในสิ่งที่ควร ทำให้รู้ว่าอะไรควรกระทำ ตอนไหน อะไรไม่ควรกระทำ เป็นต้น จะเห็นว่า ในสังคมปัจจุบันปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นเพราะคนขาดการรู้จักยับยั้งชั่งใจตนเองนั่นเอง เพราะบางคนรู้ข้อดี ข้อเสีย รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ตนเองพร้อมหรือไม่พร้อม แต่ก็ยังหลงกระทำผิดลงไปเพราะขาดการยับยั้งชั่งใจนั่นเอง

นอกจากนี้ หากตัดสินใจเลือกวิถีแห่ง “การอยู่ก่อนแต่ง” นอกจากพิจารณาถึงความพร้อมข้างต้นเหล่านี้ของตนเอง (ทั้งฝ่ายชายและหญิง) แล้ว ทั้ง ๒ ฝ่ายควรมีหลักในการตัดสินใจกระทำเพิ่มเติม ดังนี้

(๑) มีความรอบคอบในการเลือกวิถีทางนี้ มิใช่กระทำด้วยความหลง รู้เท่าไม่ถึงการ แต่เป็นการกระทำด้วยความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกระทำอย่างแท้จริง ตลอดจนสามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ หรืออย่างน้อยให้มีผลกระทบต่อตนเอง และครอบครัวน้อยที่สุด

(๒) ทั้ง ๒ ฝ่าย (ชาย-หญิง) ควรทำความเข้าใจกับครอบครัวของตนเองและครอบครัวอีกฝ่ายอย่างมีเหตุผล ใม่ใช้อารมณ์ ให้ครอบครัวทั้ง ๒ ฝ่ายได้ตกลงกันอย่างจริงจัง ว่าจะปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีหรือไม่อย่างไร หรือจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีทั้ง ๒ ฝ่าย โดยทั้ง ๒ ครอบครัวจะต้องขจัดอคติในสังคมที่ถือว่า ฝ่ายชายเป็นฝ่ายได้เปรียบ และฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ที่มีอยู่ในตนเองออกไปเสีย เมื่อสามารถขจัดอคติเหล่านี้ได้ ทั้ง ๒ ครอบครัวก็จะมองเห็นแต่ประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ไม่มีการโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้กระทั่งบุตรหลานของตนเอง และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ พร้อมกับบุตรหลานของตนเอง

(๓) ทั้ง ๒ ฝ่าย (ชาย-หญิง) ควรมีความรับผิดชอบต่อกันและกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ในขณะใช้ชีวิตร่วมกัน ก็พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ เหล่านั้นร่วมกัน ร่วมแก้ปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น ไม่ทอดทิ้งกันและกัน

(๔) ทั้ง ๒ ฝ่าย (ชาย-หญิง) ควรมีจิตใจที่มั่นคง ซื่อสัตย์ต่อกันและกันไม่เปลี่ยนแปลง มั่นคงในวิถีที่ทั้งสองได้เลือกกระทำ

(๕) ควรสำนึกอยู่เสมอว่า การเลือกทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน เป็นการกระทำที่ผิดหลักธรรมเนียมประเพณีของสังคม แม้จะไม่ผิดหลักเบญจศีล-เบญจธรรมก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาสนับสนุนให้กระทำ หรืออ้างหลักเบญจศีล-เบญจธรรมสนับสนุนการกระทำของตนเอง แต่ควรพิจารณาในด้านคุณธรรมจริยธรรมอื่นๆ ในสังคมประกอบด้วย เช่น จริยธรรมครอบครัวในฐานะบุตรธิดาว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะทุกคนเป็นสมาชิกของครอบครัว และเป็นสมาชิกของสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมแบบพุทธ ดังนั้น จึงควรพิจารณาประเด็นปัญหานี้อย่างรอบครอบตามหลักพุทธศาสนา ในทุกมิติ มิใช่ใช้หลักการใดหลักการเดียวมาสนับสนุนการกระทำของตน โดยไม่สนใจคุณธรรมและจริยธรรมด้านอื่นๆ

(๖) ควรมีคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อกันและกัน ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในฐานะที่เป็นภรรยา-สามี หรือ บิดา-มารดาอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ

ดังนั้น เมื่อเลือกที่จะอยู่ก่อนแต่งก็ควรพิจารณาถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะในด้านวัย การศึกษา การงาน และครอบครัว ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา แม้ในขณะที่อยู่ด้วยกันและหลังจากที่อยู่ด้วยกันแล้ว และที่สำคัญคุณธรรมและจริยธรรมของสามีภรรยา ทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องปฏิบัติในหน้าที่ของตนเองอย่างไม่บกพร่อง เมื่อนั้นครอบครัวจึงจะมีความสุขและมีความมั่นคง ข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้ผู้วิจัยมิได้สนับสนุนพฤติกรรมนี้ เพียงแต่หากต้องเลือกแนวทางเช่นนี้ ก็ควรพิจารณาความพร้อมของตนเองในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดเท่านั้น

๕.๒.๒ ข้อเสนอแนะในการวิจัย

การศึกษาเรื่อง “พุทธจริยศาสตร์กับประเด็นจริยธรรมเรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมไทยปัจจุบัน (Buddhist Ethics Related to Ethical Issue: Cohabitation in Thai Society at the Present Time) นี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น

การศึกษาแนวคิดทฤษฎีทางจริยศาสตร์เรื่อง การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน จากแนวคิดตะวันตกและตะวันออกจากศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนาคริสต์ อิสลาม และพระพุทธศาสนา หรือ ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเกี่ยวกับการทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานจากแนวคิดตะวันออกและตะวันตก ทั้งในเชิงสถิติและในเชิงทฤษฎี

การศึกษาประชากรผู้อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานกับความมั่นคงในครอบครัวจากกลุ่มตัวอย่างประชากรผู้เลือกวิธีนี้ในสังคม หรือ การศึกษาประเด็น “การแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณี” และ “การทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน” ในเชิงสถิติและสังคม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ถือว่า วิธีการทั้ง ๒ จะช่วยก่อให้เกิดความมั่นคงในครอบครัวจริงหรือไม่ อย่างไร วิธีการอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ วิธีนี้ มีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงในครอบครัวหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาวิจัยในประเด็นพุทธจริยศาสตร์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การแต่งงานในเพศเดียวกัน เป็นต้น

อนึ่ง การศึกษาในประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ในสังคมมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ผ่านนักจริยศาสตร์ ผู้ที่เลือกวิธีการทั้ง ๒ และผู้ที่ตัดสินในในวิธีการเหล่านี้

ดาวน์โหลดทั้งหมด 
https://docs.google.com/leaf?id=0B_Hq1zUihcyNNDQxNGI0YmQtZTJhNS00NjFiLWJhZTYtMzQ1NWY4NmQxYjJi&hl=en

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น